หน้าแรก  :  เกี่ยวกับเรา  :  สมัครสมาชิก  :  ติดต่อเรา  :  บริจาค และ สั่งซื้อหนังสือเรื่อง"For You....คุณแม่คนเก่ง
บทความที่ควรอ่าน: ปัจจัยที่ทำให้ไม่ดีขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้ไม่ดีขึ้น
Views: 26674

ปัจจัยที่ทำให้ไม่ดีขึ้น

        สมาธิสั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่  แต่สิ่งต่างๆต่อไปนี้ต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่

      

  • มีอาการหุนหันพลันแล่น  ขาดความยับยั้งชั่งใจอย่างมากในตอนเด็ก ๆ และไม่ได้รับความช่วยเหลือที่ถูกต้อง  พ่อแม่  ครูและเพื่อน ใช้  วิธีการที่ รุนแรงและกดดัน  จนเกิดความทุกข์

  • มี  พฤติกรรมก้าวร้าวและเจ้าอารมณ์เพราะถูกทำร้ายทางกายและทางใจจากผู้ใกล้ชิดที่อยู่รอบตัว  ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่โรงเรียน

  • การเลี้ยงดูไม่ดี  พ่อแม่กดดันเด็กทางด้านการเรียนและความประพฤติ โดยใช้วิธีการรุนแรง หรือ  ตามใจมาก  ไม่มีการฝึกให้มีระเบียบวินัยที่เหมาะสมและยืดยุ่น โดยปราศจากความรุนแรง ไม่มีการทำ ตารางกิจวัตรประจำวัน  ดูแลให้เด็กปฏิบัติเป็นประจำจนกลายเป็นความเคยชินและรับรู้ในความรับผิดชอบของตน

  • ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ไม่ดี  อยู่แต่ในวงจรของความโกรธ ความรุนแรงและการบีบบังคับกดดันในรูปแบบต่าง ๆ  ทั้งตี  ดุ  ว่า  ประชดประชัน  เปรียบเทียบ  บ่น  จน เด็กมีความทุกข์  หรือปลุกปล้ำให้เด็กเรียนพิเศษและเรียบร้อยมากเกินไป  จนเด็กมีความทุกข์และเกิด อาการวิตกกังวล (Anxiety) กลัวว่า  จะถูกดุ  ถูกว่า  จึงเริ่มต้น "โกหก" เพราะคิดว่าจะพ้นความผิด  เมื่อพ่อแม่หรือครูบอกให้ทำอะไร  เกิดความไม่มั่นใจว่าตนเองจะทำได้  ทำให้เกิดความไม่ภาคภูมิใจในตนเอง (Low Self-Esteem)

  • มีปัญหาทางด้านอารมณ์แทรกซ้อนเพราะทนต่อความทุกข์ที่ได้รับไม่ได้ เช่น  อาการซึมเศร้าเรื้อรัง  (Depressive Disorder) โดยไม่ได้รับการรักษา  จนกระทั่งมี อาการอารมณ์แปรปรวน (Bipolars Disorder)  สามารถทำร้ายพ่อแม่หรือบุคคลอื่นได้

  • มี  ปัญหาพฤติกรรมแทรกซ้อนเพราะไม่สามารถทนรับความทุกข์ ที่เกิดขึ้นทุกวันจากบุคคลรอบตัว  เช่น พูดโกหก  ต่อต้าน  ก้าวร้าว  เกเร  เป็นอันธพาล(Oppositional Defiant Disorder หรือ ODD)  ลักขะโมยโดยเริ่มต้นขะโมยเงินพ่อแม่  เสพยาและประพฤติผิดกฎหมายทุกรูปแบบ


  • ไม่ได้รับโอกาสที่จะพัฒนาความสามารถด้านอื่น ๆ แทนด้านการเรียนที่ประสบความล้มเหลวอยู่เสมอ

        ในบรรดาปัจจัยทั้งหมดนี้  จากการศึกษาพบว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เด็กมีปัญหาเมื่อโตขึ้นคือ  ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างพ่อแม่กับตัวเด็ก  นั่นเอง ในครอบครัวมีแต่ความทุกข์  ปราศจากบรรยากาศแห่งความสุขสดชื่น  ไม่มีเสียงหัวเราะ  ไม่มีเสียงเพลง  ไม่มีอารมณ์แช่มชื่นแจ่มใส  มีแต่ความกดดันและความเครียด  ทุกอย่างเด็กต้องทำตามความต้องการของพ่อแม่  จนเกินพอดีและกลายเป็นความทุกข์  เด็กสูญเสียความภาคภูมิใจในตนเอง  มักคร่ำครวญว่า "ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม  ทำอะไรผิดหมด  เบื่อ  อยากตาย"

       ในกรณีเช่นนี้คุณต้องรีบหาความช่วยเหลือจาก  จิตแพทย์  นักจิตวิทยาและผู้ที่มีประสบการณ์โดยด่วน

สมาธิสั้นนั้นแก้ไม่ยาก  แต่สิ่งที่ตามสมาธิสั้นมาซิแก้ไม่ง่าย  มันคืออาการดังต่อไปนี้

       อาการซึมเศร้า (Depressive Disorder) มักเกิดขึ้นกับเด็กสมาธิสั้นและเด็กบกพร่องทางการเรียนรู่หรือเด็กแอลดี  เด็กมักขาดความภาคภูมิใจในตนเอง  เพราะต้องทนรับความทุกข์ที่เกิดจากบุคคลรอบตัว  ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน  ถูกดุด่า  ว่ากล่าว  ตำหนิ  ติเตียน  ทำอะไรก็ผิดไปหมด  ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนถึงหลับตานอน  ทั้งเดือนทั้งปี   หาความสุขไม่ได้  ตนเองก็ไม่รู้ว่าทำอะไรผิดและจะแก้ไขตนเองอย่างไร  ในที่สุดจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • นอนไม่หลับหรือหลับ ๆ ตื่น ๆ
  • กินอาหารไม่อร่อย  ไม่รู้สึกอยากกิน  ที่เคยกินมากก็กลายเป็นกินน้อย  ที่กินน้อยกลายเป็นกินมาก แต่จะดูซูบผอม  นำหนักลด
  • คิดวนอยู่ที่ความทุกข์ของตนเอง ไม่มีใครรัก ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องและเพื่อน
  • เบื่อ ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากพูดคุยกับใคร  มักหลีกเลี่ยงแยกตัวไปอยู่คนเดียว
  • รู้สึกหดหู่  เศร้า ไม่เบิกบานแจ่มใส  หงุดหงิดง่าย  ทุกอย่างดูแย่
  • บางรายคิดทำร้ายตนเองหรือพยายามฆ่าตัวตน
  • บางรายอาจมีอาการทางกาย เช่น ปวดศรีษะ  ปวดท้อง  คลื่นไส้  ใจสั่น  เหงื่อแตก

        อาการต่างๆเหล่านี้จะเกิดขึ้นบ่อย ๆ จนถึงขั้นเกิดทุกวัน  เด็กต้องได้รับการช่วยเหลือ  โดยการพาไปพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

          อาการอารมณ์แปรปรวน(Bipolars  Disorder) เมื่อมีอาการซึมเศร้าแล้วผู้ใกล้ชิดไม่รู้  ปล่อยให้เป็นนานเกินสองสัปดาห์  ผู้ป่วยจะมีอาการมากขึ้น  โดยมีอารมณ์แปรปรวน ประเดี๋ยวดีประเดี๋ยวร้าย เกิดอารมณ์สองขั้ว  มีอาการซึมเศร้า  เอะอะโวยวาย  อาละวาด  ถึงขั้นทำร้ายผู้อื่นได้  อาการในระยะนี้เรียกว่า "ทั้งซึมทั้งเศร้า  ทั้งบ้าทั้งคลั่ง"  บางครั้งจะมีอารมณ์ขันและแจ่มใสเบิกบาน ในเรื่องที่ผู้อืนไม่รู้สึกว่าน่าขบขัน  แต่ผู้ป่วยกลับหัวเราะขบขัน  อารมณ์ดี  ดูมีความสุขและมีอาการพูดเร็ว  พูดโม้ถึงเรื่องไม่เป็นเรื่อง  อวดอ้างว่าตนเองทำได้  เช่น ตนเองสามารถขับเครื่องบินได้  เป็นต้น  หลังจากอาการเหล่านี้  จะมีอารมณ์โกรธในเรื่องเล็ก ๆ เช่น  เมื่อคุณแม่เรียกให้รับประทานข้าว  จะโกรธจนถึงขั้นเอะอะอาละวาด  ขว้างปาสิ่งของหรือทำร้ายคุณแม่ได้  อารมณ์สุขและอารมณ์คลั่งเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงอารมณ์สองขั้ว  ประเดี๋ยวดีประเดี๋ยวร้ายอย่างชัดเจน  แถมยังมีอาการตาขวางให้ผู้อยู่ใกล้หวาดกลัวอย่างมาก  แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว  จะรู้สึกผิด  จะขอโทษผู้ที่ตนเองทำร้ายหรือเอะอะอาละวาดใส่  บางรายถึงกลับร้องไห้  ทำให้ผู้ใกล้ชิดไม่มั่นใจว่าป่วยหรือไม่ป่วยกันแน่  ในกรณีที่มีอาการซึมเศร้าผสมอยู่ด้วย  จิตแพทย์มักถามผู้ดูแลว่า  มีอารมณ์สุขและอารมณ์ขันผสมอยู่ด้วยหรือไม่  ถ้ามีจึงจะวินิจฉัยว่า  มีอารมณ์แปรปรวน  ถ้าไม่มีจะวินิจฉัยว่า  มีอ่ารมณ์ซึมเศร้า 

        อาการดื้อ  ต่อต้าน  เกเร  ก้าวร้าว  เป็นอันธพาล (Oppositional  Defiant Disorder)  อาการเช่นนี้ เป็นอาการทางพฤติกรรม  มิใช่อาการทางอารมณ์  เด็กสมาธิสั้น  เมื่อมีความทุกข์และเก็บกดมาก ๆ จะแสดงพฤติกรรมเช่นนี้  โดยเฉพาะกับผู้ใกล้ชิดและบุคคลที่ตนเองรู้สึกไม่ชอบและไม่พอใจ  บางรายขณะนั่งรับประทานอาหารกับคุณแม่  เมื่อคุณแม่พูดไม่ถูกหู  จะเถียงและใช้ถ้อยคำหยาบคาย  จนถึงขั้นด่า  บางรายถึงขั้นขว้างปาถ้วยชามหรือแก้วใส่คุณแม่หรือยกโต๊ะทุ่มก็มี  อาการเช่นนี้ยิ่งกว่าอันธพาล  ถ้าคุณแม่สงบนิ่งไม่โต้ตอบ  ทุกอย่างก็จะสงบลง

           ปัญหาอารมณ์และพฤติกรรมตามข้างต้น  เกิดกับทุกคนที่ไร้สุข  ไม่เลือกว่าเป็นคนธรรมดาหรือคนพิเศษ  ไม่ว่า "เด็กจะมีพ่อแม่ฐานะร่ำรวยหรือยากจน " จะเป็นเด็กเล็ก  เด็กโต  เด็กวัยรุ่น  หนุ่มสาว  ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ  ไม่จำกัดเพศและวัย  แต่เด็กสมาธิสั้น  มักมีปัญหาความทุกข์มากกว่าเด็กกลุ่มอื่นเพราะดูปกติ  ฉลาด  สามารถเถียงพ่อแม่และสามารถแสดงเหตุผลที่ชัดเจน  จึงมักถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น โดยพ่อแม่มือใหม่คิดว่าแกล้งทำ

           วิธีช่วยเหลือ

  • พบจิตแพทย์ เพื่อวินิจฉัยอาการและให้รับประทานยาที่ปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุลย์  ยาบางประเภทกว่าจะออกฤทธิ์ต้องใช้เวลา  ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานก่อนนอน  หลังอาหารเช้าหรือหลังอาหารเย็นเพราะอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น  จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเวลารับประทานยา  พึงจำไว่เสมอว่า  จะต้อง รับประทานยาทุกวันและตามเวลาเดิม  เช่น  ยาก่อนนอน  มิใช่วันนี้รับประทานตอนสองทุ่ม  อีกวันตอนสี่ทุ่ม ฯลฯ  การรับประทานเช่นนี้ไม่ให้ผลดีกับผู้ป่วย  หรือ วันนี้รับประทานยา ไม่รับประทานวันพรุ่งนี้แต่รับประทานมะรืนนี้  เป็นต้น  ผู้ป่วยต้องพบหมอตามนัดเพื่อประเมินผลของยาและอาการ

 

  • พบนักจิตวิทยา เพื่อทำกิจกรรมกลุ่ม ที่มีโอกาสทำให้คลายทุกข์และปมปัญหา  มีโอกาสเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาและเรียนรู้ปัญหาและวิธีการของผู้อื่น

 

  • บรรยากาศภายในบ้านต้องเปลี่ยน พ่อแม่พี่น้องต้องนำ ธรรมะ (ทาน ศีลและภาวนา ) เข้ามาใช้เพื่อให้เกิดความรัก  ความเมตตา ให้ความรัก  ความอบอุ่นเพราะผู้ป่วยได้รับความทุกข์มามากแล้ว  ทุกคนต้องร่วมมือกันสร้างความรักและความอบอุ่นให้เกิดขึ้นในบ้าน ไม่ต้องวิตกกังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น  หากเป็นเด็ก  ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น จนถึงขั้นทนกับความเครียดได้ ก็ยังไม่จำเป็นต้องไปโรงเรียนให้เกิดความเครียด  จำไว้ว่า "ไม่มีคำว่าสายไป"  ไม่จำเป็นต้องเรียนในชั้นเรียนปกติ  เรียน กศน. ก็จบการศึกษาได้  เรียนมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชก็จบอุดมศึกษาได้เช่นกัน  ปัญหาของผู้ป่วยมิใช่เรื่องการเรียนหรือเรื่องการทำงาน  แต่คือเรื่อง "ขาดความสุข" เพราะจิตใจอยู่ในสภาพบอบช้ำจากการถูกเอ็ด  ถูกว่า  กระทบกระแทกเปรียบเปรยและถูกดูถูกดูแคลน  จึงจำเป็นต้อง  บำบัดด้วยยาและความสุข ที่ใดมีความทุกข์และความเครียด  ให้หลีกเลี่ยงให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

 

  • สร้างเพื่อน  พ่อแม่ญาติพี่น้องต้องช่วยสร้างเพื่อนผู้ใจดีหรือเป็นเพื่อนด้วยตนเอง รับฟังปัญหาและข้อกังวลใจต่างๆ ให้ใช้คำพูดในทางบวกเสมอ  จะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและไม่เครียด

 

  • ทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ฟังเพลงบ่อย ๆ ออกกำลังกาย  ฝึกงานศิลปะที่สนใจ  พยายามทำตัวให้ไม่ว่างจากการทำกิจกรรมที่ชอบ  เพื่อจะได้ไม่คิดมากถึงความเจ็บป่วยของตนและการรับประทานยา  ขอให้คุณพ่อคุณแม่และญาติพี่น้องหยิบยาหรือวิตามินที่ตนรับประทานมาให้ผู้ป่วยได้เห็นว่า  ทุกคนล้วนมียาประจำตัวทั้งสิ้น  มีใช่เรื่องเสียหายหรือเป็นจุดด้อยแต่อย่างใด

 

  • การรักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy) ในกรณีที่เป็นมาก พยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายผู้อื่นจนบาดเจ็บ  เนื่องจากยาไม่สามารถช่วยให้อาการดีขึ้น  จิตแพทย์จำเป็นต้องรักษาด้วยการช๊อตไฟฟ้า โดยปล่อยให้กระแสไฟฟ้าเข้าไปในสมองของผู้ป่วย  จนเกิดอาการชัก  ปรากฏว่าตามหลักวิชาการ  การรักษาด้วยไฟฟ้าให้ผลดีและมีความปลอดภัยสูง  อาการจะดีขึ้นโดยรวดเร็ว  แต่ไม่เป็นที่ยอมรับของผู้ป่วยและญาติ  การรักษาจึงไม่เป็นที่นิยมเพราะดูน่ากลัวและโหดร้ายมาก  จากคำพูดของผู้ปกครองที่ลูกเคยถูกช๊อตไฟฟ้า  ต่างพูดว่า ลูกดูแปลก ๆ และเหม่อลอย  ไม่ค่อยปกติเท่าใด  หากย้อนเวลาได้  จะไม่ให้หมอรักษาด้วยวิธีนี้เป็นอันขาด

 

ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์รักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้

  • พบแพทย์ตามนัดและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอทุกวันและในเวลาเดียวกัน

 

  • ผู้ที่อยู่รอบตัวผู้ป่วยต้องช่วยกันสร้างความสุขและไม่อยู่ในอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดได้ง่าย ๆ

 

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

 

  • ช่วยกันผ่อนคลายมิให้วิตกกังวลกับเรื่องการเรียนหรือเรื่องงานซึ่งมิใช่ปัญหาของความเจ็บป่วย  ปัญหาของความเจ็บป่วยคือความทุกข์และอารมณ์เครียด


 
หน้าแรก  เกี่ยวกับเรา  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา  บริจาค และ สั่งซื้อหนังสือเรื่อง"For You....คุณแม่คนเก่ง
Copyright©2024 adhdthai.com
Powered by SMEweb