หน้าแรก  :  เกี่ยวกับเรา  :  สมัครสมาชิก  :  ติดต่อเรา  :  บริจาค และ สั่งซื้อหนังสือเรื่อง"For You....คุณแม่คนเก่ง
บทความที่ควรอ่าน: สมาธิสั้นในวัยหนุ่มสาว/ผู้ใหญ่
สมาธิสั้นในวัยหนุ่มสาว/ผู้ใหญ่
Views: 99999

สมาธิสั้นในวัยหนุ่มสาว/ผู้ใหญ่

                สมาธิสั้น  ไม่ใช่อาการที่เกิดเฉพาะกับเด็กหรือพบได้เฉพาะในวัยเด็กเท่านั้น  ปัจจุบันพบว่า  วัยรุ่น/วัยหนุ่มสาวหรือวัยผู้ใหญ่หลายๆ คนมีปัญหานี้ ทำให้ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร 

       

                 ลักษณะต่อไปนี้จะช่วยบ่งชี้ว่า  สมาธิสั้นในวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาวหรือในวัยผู้ใหญ่เป็นอย่างไร

              มีประวัติบ่งชี้ว่า  มีสมาธิสั้นตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก เช่น  ตอนเล็กๆ มีพฤติกรรมซน  อยู่ไม่นิ่ง  ไม่ตั้งใจเรียน  หงุดหงิดโมโหง่าย  วอกแวก  เรียนหนังสือไม่ดี ฯลฯ และไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง  จึงทำให้อาการยังคงปรากฏอยู่  ไม่มากก็น้อย (มีจำนวนประมาณสี่สิบเปอร์เซ็น) โดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรมและอารมณ์  บางคนยังคงรับประทานยาและบางคนก็ไม่ได้รับประทานยา  ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของอาการ  ส่วนอีกพวกอาการจะแย่มากขึ้น (มีจำนวนประมาณสามสิบเปอร์เซ็น)  ถึงขั้นประพฤติผิดกฏหมายทุกรูปแบบ สามารถสร้างความรุนแรงให้สังคมได้ถึงห้าสิบเปอร์เซ็นของความรุนแรงที่เกิดขึ้น

  • ใจร้อน โผงผาง
  • อารมณ์ขึ้นลงเร็ว โกรธง่าย  หายเร็ว  มักมีเรื่องรุนแรงกับบุคคลที่ตนไม่พอใจ

  • หุนหัน พลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่คิดก่อนทำ  ทำตามใจชอบ 

  • ทนกับความเครียดหรือสิ่งที่ทำให้คับข้องใจได้น้อย

  • วอกแวกง่าย ไม่ค่อยมีสมาธิระหว่างการเรียนขั้นอาชีวศึกษาหรือขั้นอุดมศึกษาหรือในการทำงาน

  • รอคอยอะไรนานๆ ไม่ค่อยได้

  • มักจะทำงานหลายๆ  ชิ้นในเวลาเดียวกัน  แต่มักจะทำไม่สำเร็จแม้แต่ชิ้นเดียว

  • ไม่รู้จักแบ่งเวลา ขาดความสามารถในการบริหารจัดการเวลาที่ดี

  • ชอบผลัดวันประกันพรุ่ง

  • นั่งอยู่นิ่งๆ ไม่ได้นาน  ชอบเขย่าขาหรือลุกเดินบ่อยๆหรือพูดโทรศัพท์มือถือ  แม้ในขณะขับรถโดยไม่เกรงกลัวอุบัติเหตุ

  • เบื่อง่าย  หรือ  ต้องการสิ่งเร้าอยู่เสมอ

  • ไม่มีระเบียบ  ห้องหรือบ้านรกรุงรัง

  • เปลี่ยนงานบ่อย  เนื่องจากความผิดพลาดในการทำงานที่เกิดจากความสะเพร่า  ไม่เอาใจใส่  หรือ  มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชา

  • มาสาย  ผิดนัด  หรือ  ลืมทำเรื่องสำคัญๆอยู่เสมอหรือเคร่งครัดเฉพาะเรื่องที่ตนชอบเท่านั้น

  • มีปัญหากับบุคคลรอบข้าง  เช่น  สามี  หรือ  ภรรยา (บางครั้งถึงขั้นลงมือลงไม้) ญาติพี่น้อง  หัวหน้าหรือผู้ร่วมงานบ่อยๆ

 

  • ชอบขับรถเร็วมากจนเสี่ยงกับการเกิดอุบัติเหตุและทะเลาะวิาท

 

  • ชอบใช้จ่ายเงินโดยไม่ยั้งติด  มักสร้างหนี้สินต่อเนื่อง        

 

  •  ชอบคุยโอ้อวดตวามสามารถของตนเอง

วัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว

          เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่  มักต้องการคิดเอง  พูดเอง  ทำเอง ไม่ต้องการให้พ่อแม่สั่งสอนเช้ายันค่ำ  หรือพูดซ้ำซาก  จุกจิก  จู้จี้  ขี้บ่น  เด็กจะรู้สึกเบื่อและรำคาญพ่อแม่เพราะต้องการแสดงตัวตนว่า โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว  พ่อแม่ต้องเข้าใจจุดนี้และ พูดให้น้อยที่สุดเป็นดีที่สุด  อะไรที่ลูกไม่พูด  ไม่ต้องเซ้าซึ้จ่ำจี้จ้ำไช  จะต้องรู้ให้ได้  ดีที่สุดคือพูดน้อย ให้ความเข้าใจ  และ  เห็นอกเห็นใจในปัญหาของลูกและ  ช่วยหาทางออก  ให้ด้วยเหตุและด้วยผล  ไม่ต้องบีบบังคับ  ให้ลูกเลือกการตัดสินใจด้วยตนเอง  ถ้าผลจากการตัดสินใจไม่เป็นไปตามที่คาด ไม่ต้องซ้ำเติม  ให้ยีนเคียงข้างลูก  และ  ช่วยลูกแก้ปัญหา  ลูกจะรูสึกรักและซาบซึ้ง  เข็ดหลาบในวิธีแก้ปัญหาของตน

         เด็กวัยรุ่นที่มีอาการสมาธิสั้นและรับประทานยามาตั้งแต่เด็ก  จะเป็นเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป  โดยมีปัญหาดังต่อไปนี้

  •    ค้นหาเอกลักษณ์ของตนเอง
  •    ต้องการ ๆ ยอมรับในกลุ่มเพื่อน โดยเฉพาะ เรื่อง  การแต่งกายและเรื่องค่านิยมตามสมัย
  •    ความกังวลในเรื่องการเรียน
  •    มีพัฒนาการทางร่างกายและอารมณ์   
  •    มีความขัดแย้งกับพ่อแม่และไม่เชื่อฟัง 
  •    มักแสดงอาการหงุดหงิดในบางเรื่องที่ไม่พอใจ  โดยเฉพาะกับคุณแม่

         หากพฤติกรรมของลูกที่แสดงออกเช่นเด็กวัยรุ้นตามข้างต้น  ถ้าคุณแม่/คุณพ่อ  เข้าใจ  รู้จักประคับประคอง  สถานการณ์มาตลอด  ลูกจะมีอาการ  ดึขึ้น  จนถึงขั้นได้หยุดยา  เมื่อเป็นวัยรุ่นจะมีโอกาสยิ้มได้  ทั้งพ่อแม่และลูก 

         เด็กที่ประสบความสำเร็จเช่นนี้  ทางการแพทย์พบว่ามีเปอร์เซ็นสูงถึงสามสิบเปอร์เซ็น  แต่โดยความเป็นจริง  สถิติน่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะแค่อ่านเนื้อหาสาระจากเวปไซท์นี้  คุณแม่/คุณพ่อน่าจะนำไปปฏิบัติ  จนประสบความสำเร็จได้เช่นกัน  ยิ่งถ้าสามารถเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในการช่วยเหลือลูก  โดยเข้า ร่วมกิจกรรม กับเราบ่อย ๆ  ความสำเร็จจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

        ในกรณีที่เด็กยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร  ทั้ง ๆ ที่เป็นวัยรุ้นแล้วและยังคงรับประทานยาหลายขนาน  คุณพ่อ/คุณแม่อย่าเพิ่งท้อ  ไม่มีคำว่า "สายเกินไป"  มีแต่  "พรุ่งนี้ยังไม่สายไป"

        จำไว้เสมอว่า  ลูกเป็นวัยรุ่นแล้วและลูกยังคงมีปัญหาในการควบคุมตนเอง ให้รับผิดชอบในเรื่องกิจวัตรประจำวันที่บ้านและในเรื่องการเรียนที่ยังไม่ดีพอ  ลูกยังคงมีวุฒิภาวะต่ำกว่าวัย  นอกจากนี้แล้ว  อาจมีปัญหาขาดความภาคภูมิใจในตนเองและมีปัญหาความขัดแย้งกับคุณแม่  มากกว่าผู้อื่นอีกด้วย  เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำคือ  หมั่นเตือนตนเองให้ ทำบุญทุกวัน  ด้วยการทำดังต่อไปนี้

        ทำทาน

        ถือศีล 5

        ภาวนาหรือสวดมนต์นั่งสมาธินั่นเอง

        หากคุณได้ปฏิบัติอน่างสม่ำเสมอทุกวัน  จะทำให้ทุกความคิดที่เกี่ยวกับลูก  เป็นไปในทางบวก   ทุกคำพูดที่พูดกับลูก  จะเปี่ยมไปด้วยเมตตา  รวมทั้งการกระทำจะนุ่มนวล  ห่วงใย ไม่นานเกินรอ  ลูกจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น  หากคุณไม่เชื่อก็ลองพิสูจน์  ด้วยการประพฤติปฏิบัติ  เพื่อดูผลที่เกิดขึ้น

        เด็กวัยรุ่นสมาธิสั้นยังมีปัญหานอกเหนือจากเด็กวัยรุ่นทั่วไปดังนี้ 

  •   ปัญหาในการรับประทานยาเพราะครูและเพื่อนมักดูถูกเหยียดหยาม
  •   ปัญหาในการจัดการ
  •   ปัญหาการเรียน
  •   ปัญหาไม่ภาคภูมิใจในตนเอง  ขาดความเชื่อมั่น 
  •   ปัญหาทางอารมณ์จนถึงขั้นซึมเศร้า (Depressive Disorder) และ อารมณ์แปรปรวน(Bipolar Disorder)
  •   ปัญหาพฤติกรรม ดื้อ  เกเร  ต่อต้าน มีพฤติกรรมเป็นอันธพาล(Oppositional Defiant Disorder - ODD) ติดเหล้า บุหรี่หรือสารเสพติด ทะเลาะวิวาท ขับรถซิ่งหรือประพฤติผิดกฏหมายทุกรูปแบบ
  •   ปัญหาการคบเพื่อน
  •   ปัญหาเรื่องเพศ

        ปัญหาของลูกสมาธิสั้นวัยรุ่นมันมากมายก่ายกองตามข้างต้น โดยธรรมชาติ ลูกมิได้อยากเป็น เช่นนี้  แต่มันสุดความสามารถของเขา  คุณพ่อ/คุณแม่ต้องตระหนักในข้อนี้  ต้องเพิ่ม "ความเห็นอกเห็นใจ  ยืนเคียงข้างและพยายามช่วยให้ลูกมีความสุข" ไม่รู้สึกท้อแท้และประชดโลก 

         การช่วยเหลือลูกเช่นนี้  ต้องยึดหลัก "ธรรมะ" ตามข้างต้นเป็นหลัก  จึงจะปฏิบัติได้อย่างได้ผลและไม่เครียด  ทั้งแม่ทั้งลูก ขอให้คุณย้อนกลับไปอ่านหน้า "แนะนำเวป" ของชมรมผู้ปกครองฯและเริ่มปฏิบัติทันที  ผลจะมหัศจรรย์ยิ่ง  หากไม่เกินกฏแห่งกรรม  เรื่องของ  "กรรม"  เป็นเรื่องละเอียดอ่อน  ดีที่สุดคุณต้องหมั่น  "สร้างบุญบารมี"  ทุกวัน  ขอให้คุณตามไปอ่านหนังสือเรื่อง "วิธีสร้างบุญบารมี" แบบง่ายๆของสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน

 

          วิธีแก้ปัญหาตามข้างต้น

  •           ปัญหาเรื่องการรับประทานยา  ให้อธิบายให้ลูกฟังว่า  ยาจะช่วยทำให้ประสบความสำเร็จ ในหลายเรื่อง  เป็นต้นว่า  เรื่องการเรียน  เรื่องการคบเพื่อน ฯลฯ ให้หยิบยาหรือวิตามินที่คุณแม่รับประท่านเป็นประจำ ให้ลูกดู ไม่มีใครรู้เพราะไม่จำเป็นต้องบอกใครหรือใครจะรู้  ก็เป็นเรื่องธรรมดามาก  ถ้าลูกอายเพื่อน  คุณแม่ต้องแจ้งคุณหมอทราบและ เปลี่ยนเป็นยาที่ออกฤทธิ์นานทั้งวัน  แต่ถ้ามิใช่ด้วยเหตุผลนี้  ลูกอาจมี  "ปัญหาการแพ้ยา" หรือได้ผลข้างเคียงแรงเกินไป  แพทย์จำเป็นต้องทราบและต้องช่วยแก้ปัญหาเรื่องยาด้วยเช่นกัน

 

  •           ปัญหาการจัดการ เรื่องกิจวัตรประจำวันและบริหารเวลา  ควรจัดให้มี "ตารางเวลา" และ มีนาฬิกาที่ลูกจะเห็นชัด  อะไรที่ทำไม่ได้ดี  ไม่ต้องตำหนิ  ให้ช่วยทำเพราะเด็กวัยรุ่นคนนี้คือ " ลูกรัก " 

                  การเก็บสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวและเอกสารสำคัญ  ควรจัดให้มีตู้ ที่มีลิ้นชักคู่  เขียนป้ายให้เห็นชัดว่า  ลิ้นชักใดใส่ะไร  คุณแม่ต้องพอใจ  เมื่อลูกทำได้หกสิบเปอร์เซ็น  จำให้ดีว่า "ลูกรักเป็นวัยรุ่น"  ลูกได้พยายามเต็มที่แล้วและถือว่าลูกสอบผ่าน

 

  •          ปัญหาการเรียน เด็กวัยรุ่นสมาธิสั้น  มิได้มีปัญหาขาดความสามารถ  แต่มีปัญหาการทำงานทางด้านการเรียน  ทำได้ไม่เสร็จ ไม่รอบคอบ  จึงทำให้ไม่ถูกต้อง  จึงเกิดปัญหา  เพราะฉะนั้นพ่อ/แม่และครูจึงต้องช่วยกัน  เพื่อให้เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและหาวิธีมอบหมายงานให้เหมาะสมกับตัวเด็ก

           - เด็กมีปัญหาความสนใจ ไม่สามารถกลั่นกรองสิ่งเร้าได้  จึงทำให้แยกไม่ออกว่า  ควรสนใจอะไร  ควรทำอะไร  และควรทำอย่างไร  งานจึงจะเสร็จ  จึงต้องหาวิธีการทำให้สนใจในสิ่งมี่กำลังทำ

          - เด็กมีปัญหาความจำ  การเก็บข้อมูล ประมวลและแปลข้อมูลมีปัญหา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยากสำหรับเด็ก ได้เห็น ได้ยิน ได้อ่านหรือได้เขียนอะไร  จะจำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หรือ ประมวลหรือจับประเด็นได้ลำบาก  นั่นก็คือปัญหาการคิดรวบยอด  ฉะนั้นจึงต้องช่วย โดยการเพิ่มเวลาทำงานหรือลดหย่อนการทำงาน โดยการแบ่งงานเป็นตอนสั้น ๆ หรือขีดเส้นใต้ตอนที่สำคัญ  จึงจะประสบความสำเร็จ 

          -  เด็กมีปัญหาในการแก้ปัญหา เพราะ การเรียงลำดับขั้นตอน กระบวนการขั้นตอน  มีความบกพร่อง  พ่อแม่ต้องค่อย ๆ ฝึกโดยการเขียนกระบวนการและขั้นตอนของการแก้ปัญหาในรูปแบบต่างๆ กัน

         -  เด็กมีปัญหาการทำข้อสอบ เพราะมีข้อบกพร่องในการ ดึงข้อมูลหรือดึงได้ช้า ไม่ใช่ไม่รู้  จึงทำให้ผลการสอบไม่ดี  เกือบได้เกือบตกเสมอ จึงเป็นเรื่องจำเป็นในการเพิ่มเวลาสอบ  ต้องขอความช่วยเหลือจากครู

 

  •        ปัญหาการขาดความภาคภูมิใจในตนเองเพราะผจญกับการถูกผู้ใกล้ชิดรอบตัว  ตี  ดุ  ด่า ว่ากล่าวและตำหนิ  ติเตียน  เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน  ตราหน้ากันตั้งแต่เช้ายันค่ำ  ทุกวันจันทร์จนถึงวันอาทิตย์  ทุกวัน  ทุกเดือนและทุกปี  ผู้ใกล้ชิดรอบตัวจึง  ต้องปรับพฤติกรรมตนเอง มิให้โกรธและโมโหหรือรำคาญเด็ก  ต้องให้กำลังใจและมี ทัศนคติเชิงบวกกับเด็ก  ค้นหาความสามารถด้านอื่นของเด็กและให้ความสนับสนุน  ให้ประสบความสำเร็จอย่างเต็มที่  ขอให้จำไว้ว่า "ช่วยเหลือมิใช่แก้ไข"

 

  •           ปัญหาพฤติกรรม เด็กวัยรุ่นทั่วไปมีปัญหามากอยู่แล้ว  โดยเฉพาะการต่อต้านพ่อแม่และไม่ประสงค์จะทำตามคำแนะนำสั่งสอนหรือกฏระเบียบภายในบ้าน  พ่อแม่จึงจำเป็นต้องใช้เหตูผลสั้น ๆ และยอมให้ลูก ต่อรองได้บ้าง เพื่อให้เกิดความรู้สึก  วิน-วิน  แรงต่อต้านจึงลดลงได้ตามสมควร  พ่อแม่ที่ไม่ยืดยุ่น  การต่อต้านของเด็กจะทวีความรุนแรง  ถึงขั้นเกเร  ก้าวร้าว (ODD) โดยเฉพาะกับแม่  บางคนถึงขั้นมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมจนกลายเป็นอันธพาล  ประพฤติผิดกฏหมายทุกประเภทเป็นต้นว่า  เสพยา  ลักขโมย  ชกชิงวิ่งราว ฯลฯ ปัญหาพฤติกรรมเหล่านี้ยากจะแก้ไข  เด็กสมาธิสั้นเป็นเช่นนี้ถึงสามสิบเปอร์เซ็น  ทางการแพทย์จัดว่ามี "อาการแย่ลง" จากเดิม พ่อแม่จะต้อง "ปรับพฤติกรรมตนเอง" ให้ได้มากที่สุด  ตั้งแต่ลูกยังไม่เป็นวัยรุ่น  อาการของลูกจึงจะดีขึ้น  เป็นเรื่องประหลาดที่มีพ่อแม่เป็นจำนวนมากที่มุ่งแต่จะปรับพฤติกรรมลูก โดยมิได้หันมาปรับพฤติกรรมตนเองโดยยึด  "ธรรมะ" เป็นที่พึ่งจึงจะปรับพฤติกรรมตนเองได้                

            สิ่งที่พ่อแม่ควรทำอย่างสม่ำเสมอคือ

  •      มองด้านดีของลูกและให้คำชม
  •      สร้างอารมณ์ขันและทำให้มีเสียงหัวเราะในบ้าน
  •      เน้นการสอนด้วยเหตุผลสั้นๆ 
  •      ไม่สนใจเรื่องเล็กน้อย
  •      ให้โอกาสลูกตัดสินใจ
  •      ให้โอกาสลูกพูดและรับฟังด้วยความเข้าใจ       
  •      สอนให้ลูกระงับอารมณ์โกรธด้วยการไม่โกรธลูก  เพื่อให้ลูกเห็นและซึมซับเป็นตัวอย่าง  ใช้วิธีการสูดลมหายใจเข้า  ปล่อยลมหายใจออกหรือท่อง "พุทโธ" หรือ "นับหนึ่งถึงสิบ"  หรือพูดว่า "แม่โกรธลูกแล้วนะ" ฯลฯ

           ทุกวิธีการข้างต้น  พ่อแม่จะต้องใช้หลักธรรมะทั้งสิ้น  มิฉะนั้นจะเครียดและจะทำไม่ได้  ขอให้ดูคำแนะนำใน "หน้าแนะนำเวป" และนำไปปฏิบัติจนเกิดผลดีต่อลูก  ต่อตนเองและต่อผู้อื่นและจะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกรูปแบบตลอดไป

  •         ปัญหาทางอารมณ์ จนมีภาวะซึมเศร้า (Depressive Disorder)ภาวะวิตกกังวล (Anxiety Disorder) และ ภาวะอารมณ์แปรปรวน (Bipolar Disorder) บุคคลที่มีแต่ความเครียด  หมดสุข  มีแต่ความทุกข์  มักจะมีปัญหาทางอารมณ์ได้  อาการที่เป็นคือเครียด  วิตกกังวล  เบื่อหน่าย  มีอารมณืไม่สดใส ไม่อยากทำอะไร  รู้สึกหดหู่  เศร้าหมอง  คิดวนเวียนอยู่กับความทุกข์ของตนเอง  กินไม่ค่อยจะได้  นอนไม่ค่อยหลับ  บางครั้งรู้สึกเศร้า  บางครั้งรู้สึกมีอารมณ์ขัน  สนุกสนานจนเกินพอดี  พูดจาเหมือนคนขี้โม้เพ้อฝันทั้งๆที่ทำไม่ได้  แต่แล้วก็เกิดอาการหงุดหงิดโมโหร้าย  เห็นอะไรขวางหูขวางตาไปหมด  แม้แต่เรื่องง่ายๆ  เช่น  การถูกเรียกให้ไปรับประทานอาหาร  เจ้าตัวจะโมโห  จนถึงขั้นทำร้ายคนที่เรียกได้  อาการเหล่านี้ทางการแพทย์ถือว่าเป็นอาการทางจิตเวช

           เด็กสมาธิสั้นและเด็กแอลดีหรือเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้  ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือเป็นวัยรุ่น  จะมีปัญหาทางอารมณ์ตามข้างต้นได้ง่ายเพราะต้องผจญกับความทุกข์แสนสาหัส ที่บุคคลรอบตัวหยิบยื่นให้โดยไม่รู้ตัว  ถูกตี  ถูกดุ  ถูกด่าว่ากล่าว  มาตลอด  จนรูสึกว่าตนเอง "เกิดมาเป็นคนเลว"  สร้างความทุกข์และความยากลำบากให้พ่อแม่พี่น้องและครูหรือเพื่อนมาโดยตลอด  อยากจะแก้ไขตนเองก็ไม่รู้จะแก้อย่างไร  คิดไม่ออก จึงคิดวนไปวนมาถึงความทุกข์ของตน ในที่สุดก็จะมีปัญหาทางอารมณ์

           วิธีช่วยเหลือคือ พาไป พบจิตแพทย์ เพื่อนำยามารับประทานอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลาทุกวัน  จะหยุดยาเองไม่ได้  ต้องให้แพทย์ประเมินอาการว่า  ดีขึ้นมากแล้ว  จึงจะหยุดยาได้  แต่ส่วนใหญ่จะรับประทานหลายปีมาก 

           หากพ่อแม่ญาติพี่น้องรอบตัวไม่ใช้วิธีช่วยอย่างจริงจัง  นั่นคือ  ต้องช่วยสร้างความสุขและระมัดระวังไม่ให้เครียดและวิตกกังวล  จนเกิดปัญหาทางอารมณ์อยู่เนือง ๆ หลักธรรมะ จึงต้องเข้ามามีบทบาท  ถ้าพูดกันตามความเป็นจริง ไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาอะไรก็ต้องปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดาอยู่แล้ว  คนไทยที่เป็นพุทธมีถึง  97 เปอร์เซ็นของประชากร  จึงควรที่จะต้องปฏิบัติตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในขั้นต้นให้ได้  นั่นคือ  ต้องทำ ทาน  ถือศีล 5 และสวดมนต์นั่งสมาธิทุกวัน  ไม่ต้องคอยให้พบความทุกข์หรือให้เป็นคนแก่เสียก่อนจึงค่อยปฏิบัติ  พึงจำไว้ว่า

           ธรรมะรักษาทุกโรค อย่าปล่อยให้ฝรั่งนำไปใช้  โดยเราเชื่อและมีศรัทธา  แต่ลืมปฏิบัติ  นั่นคือ  การทำทาน  ถือศีล 5 และสวดมนต์นั่งสมาธิวันละอย่างน้อย 5 นาที  ทั้งหมดนี้เรียกว่า "การทำบุญ"

 

  •           ปัญหาการคบเพื่อน เด็กวัยรุ่นทั่วไป  มักติดเพื่อนและเห็นความสำคัญของเพื่อน  แต่เด็กสมาธิสั้นจะรู้สึก "แปลกแยก" เพราะไม่มึใครอยากคบ  แม้แต่พ่อแม่ของเพื่อนก็จะพากันห้ามปรามลูกของตน ไม่ให้คบ  แต่ละคนล้วนแต่แสดงอาการ "รังเกียจและดูถูกเหยียดหยาม" เป็นประจำ จึงมักจะหันไปคบเพื่อนที่มีปัญหา พากันทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำ เช่น เสพยา ทะเลาะวิวาท ฯลฯ เพราะฉะนั้นพ่อแม่จะต้องช่วยเหลือลูกดังต่อไปนี้

           - ช่วยสร้างเพื่อนให้ลูก

           - ชักชวนเพื่อนลูกมาเที่ยวบ้าน ร่วมกิจกรรมด้วยกันเป็นประจำ

           - ไม่ตำหนิเพื่อนให้ลูกฟัง

           - สอนทักษะการแยกแยะคน  จากการดูพฤติกรรมโดยยึดหลักธรรมะตามข้างต้นเป็นประจำ  จนลูกเคยชิน

           - ไม่ตำหนิบุคคลใดหรือแม้แต่ตัวลูก  ควรพูดถึงพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น

 

      

  •   ปัญหาทางเพศ เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ  ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ  แต่เด็กสมาธิสั้นเมื่อเป็นวัยรุ่นไม่ค่อยมีเพื่อน  จึงมักเบี่ยงเบนตนเองไปสนใจเพศตรงข้ามได้ง่าย  จากงานวิจัย  ปรากฏว่าเด็กสมาธิสั้นมักมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยและไม่คุมกำเนิด  เสี่ยงต่อการเป็นโรคทางเพศได้ง่าย  พ่อแม่จึงควรทำดังนี้

           - เสริมสร้างความภาคภูมิใจให้กับลูกด้วยการชมและด้วยการสนับสนุนช่วยเหลือ  ให้ลูกแสดงความสามารถ ในสิ่งที่ชอบและสนใจ  มิใช่เน้นแต่เรื่องการเรียนพิเศษและเรื่องการมีระเบียบเรียบร้อย  ขอบอกว่า

           เด็กสมาธิสั้นก็เก่งได้อละไม่แพ้ใคร

          

             - ส่งเสริมกิจกรรมออกกำลังกายอย่างสร้างสรร  เช่น  ว่ายน้ำ  วิ่งแข่ง ฯลฯ เพิ่อลดทอนกำลังวังชาทางด้านเพศ  แต่ทั้งนี้ให้งดกิจกรรมที่รุนแรง เช่น ต่อยมวย  คาราเต้หรือให้  "เล่นเกม" โดยไม่กำจัดเวลา

           - พ่อแม่ต้องเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความสนุกสนานเบิกบาน  มิใช่ร่วมไปบ่นไป

           - คุณพ่อต้องสอนเรื่องการปลดปล่อยทางเพศให้ลูกด้วยตนเองและสอนให้ใช้เครื่องมือป้องกัน

           พึงระลึกเสมอว่าลูกมีสมาธิสั้น  ไม่น่ากลัวเท่ากับลูกมีปัญหาอารมณ์ซีมเศร้าและมีปัญหาอารมณ์แปรปรวนและมีปัญหาพฤติกรรมผิดกฏหมาย

สมาธิสั้นในวัยผู้ใหญ่

             สมาธิสั้นในวัยผู้ใหญ่ พอจะแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคิอ

           1. ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือดูแลมาเป็นอย่างดีตั้งแต่ในวัยเด็ก  เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะประสบความสำเร็จได้ตามสมควรและสามารถมีครอบครัวได้  หากคู่ครองเป็นคนมีเมตตาและสามารถสร้างบรรยากาศให้ภายในครอบครัวมีความสุข  ทุกอย่างจะถือได้ว่าประสบความสำเร็จ  ถึงแม้จะมีอาการบางอย่างเหลืออยู่บ้าง  เช่น  อาการเครียดหงุดหงิดขี้โมโหหรือมีเรื่องกับญาติพี่น้้องและเพื่อนร่วมงานบ่อย ๆ  ทำให้ต้องเปลี่ยนงานบ่อย  ชอบใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  ฯลฯ  แต่ผู้นั้นจะสามารถควบคุมตนเองได้ตามสมควร  ยิ่งถ้าผู้นั้นมีความคิดสร้างสรรและไอคิวดีด้วยแล้ว  ผู้นั้นอาจกลายเป็นบุคคลมีชื่อเสียงได้

          2. ผู้ที่เป็นวัยรุ่นแต่ประสบปัญหาขาดความภาคภูมิใจในตนเองและมิได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง  หรือ  ถูกผู้ใกล้ชิดรอบตัวกดดันเพราะรัก จนอาการพัฒนาเลวลง จนกลายเป็นผู้มีปัญหาอารมณ์ซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวน  ต้องรับประทานยาเป็นประจำ  เพื่อควบคุมตนเองมิให้มีปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรม  บุคคลประเภทนี้จะต้องพึ่งยา  จะพอดำเนินชีวิตและทำงานง่ายๆได้  แต่จำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์   โดยเฉพาะเรื่องยาและอารมณ์ ที่ถูกผู้ใกล้ชิดกระตุ้นให้เกิดโมโห  บางครั้งต้องปรับเปลี่ยนยาโดยการเข้าโรงพยาบาลเป็นระยะ  แต่อย่างไรก็ตามก็ยังดำรงชีวิตอยู่ได้

          3. ผู้ใหญ่สมาธิสั้นที่ไม่เคยรับรู้ว่า  ตนเองสมาธิสั้นประเภทหุนหันพลันแล่นและมีปัญหาพฤติกรรม  ไม่คิดก่อนทำ  ชอบความรุนแรง เกเรก้าวร้าว  ฉลาดเป็นกรด  มีพฤติกรรมเป็นอันธพาลและประพฤติผิดกฏหมาย  เช่น  เสพยา  ทะเลาะวิวาท  ลักขะโมยหรือทำร้ายผู้อื่น ฯลฯ ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น  แก้ปัญหาไม่ตก  จึงมักคบกับบุคคลที่มีพฤติกรรมเหมือนกัน  บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง  ไม่สามารถแก้ปัญหาของตนเองได้  ทำให้  มีชีวิตที่ตกต่ำ  น่าสงสาร  ทั้งๆ ที่มิใช่ความผิดของตนเองหรือของผู่ใกล้ชิดซึ่งมีสาเหตุมาจากความไม่รู้ทั้งสิ้น  ทั้งนี้เพราะดู  ปกติและฉลาด  ตั้งแต่ในวัยเด็ก  ปัญหาซ่อนอยู่ภายในตัวมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า  ไม่ได้รัยความช่วยเหลือที่ถูกต้อง  จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ล้มเหลว 

           ผู้ใหญ่ทั้ง 3 ประเภทนี้  อาจดำเนินการช่วยเหลือตนเองดังต่อไปนี้ พร้อมทั้งมีผู้ใกล้ชิดคอยช่วยเหลือ  ประคับประคอง  ให้ประสบความสำเร็จให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

            -  ปรีกษาจิตแพทย์ผู้ใหญ่  บางรายต้องใช้ยาช่วย ในกรณีก้าวร้าวรุนแรง  มีอารมณ์แปรปรวนหรือซึมเศร้า  หรือ  ต่อต้านสังคมหรือเกเรมีพฤติกรรมเป็นอันธพาล  ยาที่ได้รับจะต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอทุกวันและในเวลาเดียวกัน  หากมีอาการแย่ลงต้องรีบพบแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนยา

            -  พบนักจิตวิทยาและเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม  ตามกำหนด  เพื่อการผ่อนคลายและเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาและวิธีดำรงชีวิตที่เหมาะสมกับตนเอง

            -  ยอมรับความเป็นจริง  ตามสภาพธรรมชาติโดยหันหน้าเข้าวัดให้มากขึ้นและพยายามปฏิบัติตามหลัก ทาน  ศีลและภาวนา ทุกวันเท่าที่จะทำได้  จนเกิดความเคยชิน  ปฏิบัติได้โดยอัตโนมัติ ถ้าปฏิบัติได้ 51 เปอร์เซ็นถือว่าสอบผ่าน

           -  ทำงานที่ถนัดที่สุดและเหมาะสมที่สุด  เช่น  ไม่ต้องใช้กระบวนการบริหารจัดการ  ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อนในขั้นตอนการทำ  ไม่ต้องวางแผน ฯลฯ ให้เลือกทำงานที่ต้องใช้คำพูดโน้มน้าว  เช่น งานการตลาดและงานขาย  งานพานักท่องเที่ยวไปเที่ยว  งานถ่ายรูปนอกสถานที่ ฯลฯ

            - ทำกิจกรรม  ที่สนุกและเพลิดเพลิน  โดยไม่มีความรุนแรงและไม่ผิดศีล 5 เช่น  การวาดภาพ  การว่ายน้ำ  การวิ่งระยะไกล  การดูหนังฟังเพลง ฯลฯ

            - หาเพื่อน  ที่เข้าใจ  ใจดีและอารมณ์เย็น พูดความจริงกับเพื่อนและขอให้เพื่อนช่วยเตือนหรือส่งสัญญาณเวลาทำอะไรไม่เหมาะสม

            - มีนาฬิกาข้อมือหรือโทรศัพท์มือถือ ที่ตั้งสัญญาณเตือนให้รู้ตัวเวลาจะต้องทำภาระกิจของตนเพื่อกันลืม

           - ระบายความขับข้องหมองใจ  กับบุคคลที่รักหรือมีเมตตาต่อตน เพื่อขอความช่วยเหลือหาหนทางแก้ไขปัญหา  ความวิตกกังวลจะได้ทุเลาเบาบางลงได้

           - พยายามคิดในทางบวก  เพื่อเป็นการให้กำลังใจตนเอง เช่น เมื่อกินอะไรไม่อร่อยก็อย่าเพิ่งหงุดหงิด  ให้คิดว่า กินได้เองไม่ต้องให้ใครป้อนถือว่าโขคดีหรือมีกินก็ดีแล้ว หรือทำอะไรได้เสร็จแต่ผลสำเร็จได้เพียง 60 เปอร์เซ็น  ให้คิดว่าทำได้สำเร็จเพราะดีกว่าทำไม่ได้  เป็นต้น

           - เพิ่มทักษะทางสังคม  ด้วยการหาหนังสือมาอ่านและปฏิบัติตาม เช่น "หนังสือสมบัติผู้ดี" ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในการสอนทักษะทางสังคมให้ผู้อ่าน

"คน" ตือสัตว์โลก "มนุษย์" คือสัตว์โลกผู้มีจิตใจงามเพราะปฏิบัติตามศีล 5 ในชีวิตประจำวัน  มนุษย์ย่อมไม่รังเกียจผู้อื่นและย่อมช่วยเหลือผู้อื่นด้วยจิตเป็นกุศล

มนุษย์ย่อมเท่าเทียมกันทุกคน  เพียงแต่มีธรรมชาติที่ไม่เหมือนกัน  เฉกเช่น  "เป็ดกับไก่"  ที่ต้องอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  เป็ดไม่สามารถเปลี่ยนไก่ให้เป็นเป็ดได้และไก่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนเป็ดให้เป็นไก่ได้เช่นกัน  นี่คือคำสอนของหลวงปู่ชา  สุภัทโท  ซึ่งได้นำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสอนเราให้มองเห็นภาพชัดเจน  เพื่อจะได้  ไม่คิดแก้ไขผู้อื่น  นอกจากแก้ไขตนเองเท่านั้น  ชีวิตจึงจะเป็นสุขทั้งในครอบครัวและในสังคมประเทศชาติ

**********

ติดต่อนัดหมายนักจิตวิทยาที่ชมรมผู้ปกครองฯ โทร.02-9328439

                

 

 

             

 

 



 
หน้าแรก  เกี่ยวกับเรา  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา  บริจาค และ สั่งซื้อหนังสือเรื่อง"For You....คุณแม่คนเก่ง
Copyright©2024 adhdthai.com
Powered by SMEweb