หน้าแรก  :  เกี่ยวกับเรา  :  สมัครสมาชิก  :  ติดต่อเรา  :  บริจาค และ สั่งซื้อหนังสือเรื่อง"For You....คุณแม่คนเก่ง
บทความที่ควรอ่าน: การช่วยเหลือนอกจากยา
การช่วยเหลือนอกจากยา
Views: 37154

การช่วยเหลือนอกจากยา

นอกจากยาแล้ว เรายังต้องให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆอีก เด็กที่มีสมาธิสั้น ทำให้ครอบครัวมีความเครียดได้มากหากไม่ช่วยเหลือให้ถูกทาง เด็กอาจจะเป็นตัวรบกวนความสงบสุขในครอบครัว พ่อแม่จำเป็นต้องช่วยให้เด็กสามารถควบคุมพฤติกรรมได้ โดยการจัด กิจกรรมที่บ้านที่เด็กต้องทำในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ และ กิจกรรมในวันหยุด ที่เด็กต้อง ทำทุก ๆ วัน ให้เป็นไปอย่าง สม่ำเสมอ ตามเวลาที่กำหนดไว้ หรือที่เรียกว่า "ตารางกิจวัตรประจำวัน" และที่สำคัญที่สุด ต้องมีกำหนดเวลาการเล่นเกมซึ่งปัจจุบันกลายเป็นยาเสพติดของเด็ก หากพ่อแม่ไม่ควบคุมให้เป็นไปตามตารางเวลา จะเสียใจภายหลังเพราะคุมไม่ได้

ตารางเวลาบางครั้งต้องยืดยุ่น เมื่อเด็กไม่สบายหรือมีอาการเครียดมาจากโรงเรียน เมื่อเด็กทำได้ตามเวลาต้องไม่ลืม "ชมเชย"

ไม่ว่าจะเป็นเวลาตื่นนอน เวลาแปรงฟันล้างหน้า อาบน้ำ รับประทานอาหาร ไปโรงเรียน เวลาทำการบ้าน เวลาเล่น หรือ เวลาเข้านอน พยายามอย่าพาลูกไปในที่ที่มีสิ่งกระตุ้นมากเกินไป เช่น ในห้างสรรพสินค้าหรือบริเวณที่มีผู้คนจ้อกแจ้กจอแจ ควรพาไปเที่ยวในที่ๆ เป็นธรรมชาติจะเหมาะสมกว่า หรือพากันไปเทียววัดทีเก่าแก่ เพื่อกราบพระและชมศิลปะตามผนังและประตูและหน้าต่างโบสถ์และวิหารที่แสนจะงดงาม จนเด็กคุ้นเคยกับการไปเที่ยวธรรมชาติและเที่ยววัด มากกว่าเที่ยวห้าง

พ่อแม่มักให้ความสนใจที่จะ ดุว่า เด็กกลุ่มนี้เมื่อทำผิด เช่น รบกวนผู้อื่น พูดแล้วไม่ฟังและไม่ทำ เป็นต้น แต่ที่จริงแล้วพ่อแม่ควรเปลี่ยนมาให้ความสนใจ เมื่อลูกมี พฤติกรรมที่ดี ให้คำชม กอดลูก หรือให้รางวัลเป็นพิเศษตามสมควร การทำเช่นนี้จะช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิด ความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและรักคุณแม่/คุณพ่อ

ไม่ควรใช้ การตี เพื่อแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องของเด็กกลุ่มนี้ แต่ควรใช้วิธีอื่นที่จะได้ผลมากกว่า เช่น หากลูกซุกซนมาก จนพ่อแม่หงุดหงิด ควรทำเป็น ไม่ใส่ใจและเดินหนี ไปเสีย หากลูกตื่นเต้นมากเกินไป ให้หากิจกรรมอื่นมาเบี่ยงเบนความสนใจ หากลูกแสดงความ ก้าวร้าว ให้แยกลูกออกมา ให้ลูก นั่งอยู่เงียบ ๆ คนเดียว สักพักจนกว่าจะสงบลง แล้วค่อยพูดถึงพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องรวมทั้งผลของมัน เมื่อลูกสงบลงแล้ว

การดูแลเลี้ยงดูและช่วยเหลือลูกตามข้างต้น ทางการแพทย์เรียกว่า การปรับพฤติกรรมเด็กและพฤติกรรมพ่อแม่ จะต้องทำควบคู่กับการใช้ยาซึ่งเด็กจะมีอาการดีขึ้นจนหายได้ในที่สุด

การปรับพฤติกรรมพ่อแม่และเด็ก ทำไม่ยาก แต่ไม่ง่าย พ่อแม่ต้องเข้า ร่วมกิจกรรมกับเราและเรียนรู้วิธีทำ มิใช่สุ่มสี่สุ่มห้าทำเอง โรงพยาบาลศิริราช จะจัดปีละหนึ่งถึงสองครั้งและ ชมรมผู้ปกครองฯ จัดปีละหลายครั้ง เพื่อให้สมาชิกเรียนรู้ และ นำไปปฎิบัติได้อย่างถูกต้องและให้ผลดีกับลูก

การเรียนของเด็กสมาธิสั้น

ระเบียบกฎเกณฑ์ในห้องเรียน จะยิ่งทำให้เด็กสมาธิสั้นมีปัญหามากขึ้น ครูจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเด็กด้วยความเมตตา โดย แยกสอนเด็กเป็นกลุ่ม ๆ แทนที่จะสอนรวมกัน (ห้องเรียนคู่ขนาน) เด็กสมาธิสั้นที่ต้องเรียนกับเพื่อนกลุ่มใหญ่มักวอกแวกง่าย เบื่อง่าย และ ยังต้องการ คำชมและกำลังใจเป็นอย่างมาก กว่าจะทำงานแต่ละชิ้นให้เสร็จ การสอนพิเศษ ตัวต่อตัว อาจช่วยได้มาก เด็กบางคนทำงานกับครูพิเศษ แค่ครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงจะสามารถทำงานได้มากเท่ากับทำที่โรงเรียนทั้งวัน (ห้องเรียนสอนเสริม)

พึงระลึกไว้ว่า เด็กสมาธิสั้นอาจเรียนได้ดีเท่าเพื่อน ๆ เพราะเด็กมีสติปัญญาปกติ เพียงแต่ไม่สามารถจัดการกับงาน ตามความรับผิดชอบได้อย่างเป็นระเบียบและยังขาดความใส่ใจในงานอีกด้วย เมื่อได้รับความช่วยเหลืออย่างถูกทาง เด็กจะเรียนได้ บางคนเรียนได้ดีมากด้วยซ้ำไป

"ยา" ไม่สามารถทำให้เด็กมีอาการดีขึ้นหรือหายได้ เพราะมิได้รักษาอาการที่ต้นเหตุ แต่ช่วยให้เด็กนิ่งได้แค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น จะต้องใช้ควบคู่ไปกับ การปรับพฤติกรรมของทั้งเด็กและของพ่อแม่ พร้อมทั้งให้ความรักโดยไม่มีเงื่อนไข

พ่อแม่อาจเคยได้ยินว่า มีวิธีการรักษาเด็กสมาธิสั้นหลายวิธีด้วยกัน โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยากับเด็ก กรณีเช่นนี้มักใช้กับเด็กที่มีอาการน้อยเท่านั้น ถ้ามีอาการที่จิตแพทย์เด๋กวินิจฉัยว่าเด็กจะต้องใช้ยา การช่วยเหลือด้วยวิธีอื่นจะต้องควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน

การนำเด็กเรียนพิเศษจนมากเกินไป ทำให้เด็กเครียดและขาดความสุขในวัยเด็ก จริงๆแล้วควร พาเด็กเล่นกีฬาทีไม่มีกฎเกณฑ์หรือรุนแรงมากเกินไป เช่น คาราเต้ เตควันโด้ ต่อยมวย ฟันดาบ แต่ควรพาไปว่ายน้ำ เพื่อให้ข้อต่อแขนขาได้ทำงานเต็มที่ การวิ่งเร็ว เพื่อให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรง การเล่นแบบไทยๆ ฯลฯ การออกกำลังกายจะช่วยทำให้เด็กสนุกและรู้สึกดี มีระเบียบวินัยมากขึ้นและห่างไกลเกม

การออกกำลังกายแบบพิเศษ

บางคนเชื่อว่า หากทำให้เด็กกลุ่มนี้มีการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อให้มากขึ้น อาจจะแก้ปัญหาของเด็กได้ เนื่องจากเด็กสมาธิสั้นมักมีปัญหาในด้านนี้อยู่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้เด็กเกิดอาการสมาธิสั้นเช่นกัน ถึงกระนั้นบางครั้งก็พบว่าการออกกำลังกายให้ข้อดี ทำให้พ่อแม่ให้ความสนใจเป็นพิเศษแก่เด็ก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและความรู้สึกในด้านดีต่อตัวเด็กและจะทำให้เด็กเรียนรู้กฎกติกามากขึ้น ที่สำคัญคือ รู้สึกสนุกสนานกับการเล่นซึ่งมีผลทำให้เด็กเครียดน้อยลง

การให้อาหารพิเศษ

บางคนเชื่อว่า มีอาหารบางชนิดทำให้เด็กมีอาการสมาธิสั้น เช่น สารแต่งสีแต่งกลิ่น น้ำตาล และอาหารประเภท ถั่ว ข้าวโพด ช็อกโกแลต ข้าวสาลี พ่อแม่หลาย ๆ คนจึงให้เด็กงดอาหารเหล่านี้ โดยคิดว่าจะทำให้อาการดีขึ้นได้ การงดอาหารบางประเภท ไม่อาจจะช่วยแก้ปัญหาในเด็กได้ หากไม่ให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ แก่เด็ก แต่อย่างไรก็ตาม อาหารประเภทขนมหวาน ขนมแต่งสีแต่งกลิ่นและแต่งรส มิใช่ของดีและเป็นสิ่งที่เด็กหรือผู้ใหญ่ไม่ควรรับประทาน หากรู้สึกอยากรับประทาน ควรเลือกรับประทานขนมสุขภาพ ที่มีส่วนผสมของๆดี เช่นแป้งควรใช้แป้งจากข้าวกล้องหรือข้าวกล้องงอก ไม่ใช้สารต่างๆเข้าไปผสมปนเปื้อน น้ำตาลควรเป็นน้ำตาลที่ไม่ฟอกสี เป็นต้น

การให้วิตามิน

การให้วิตามินควรเป็นวิตามินสำหรับเด็ก ในกรณีที่เป็นเด็ก เช่น โอเมก้า 3 และ วิตามีนบี 6ซึ่งมักจะมาในรูปวิตามินบีรวม ควรเริ่มแต่น้อยและรับประทานวันเว้นวัน จนกว่าร่างกายจะปรับรับสิ่งแปลกใหม่ได้ จึงรับประทานทุกวัน ควรรับประทานพร้อมอาหารและควรเป็นมื้อเดียวกันทุกวัน จึงจะดีที่สุด เมื่อเริ่มใหม่ๆ ถ้าเด็กรู้สึกมีอาการมึน ไม่สดใส ต้องลดจำนวนลงให้ไม่มีอาการเหล่านี้ จนกว่าร่างกายจะเคยชิน เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ถ้ามีกำลังเงิน มักจะรับประทานโอเมก้า 3 6 9 วิตามินบีรวม วิตามีนอี วิตามินรวมและแร่ธาตุ และวิตามีนซี เพื่อพยุงอาการเสื่อมของสมองทางด้านความจำ การจัดการ และการบริหารและลดความเครียด จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่า เด็กเหล่านี้ความจริง มีอาการคล้ายผู้ศูงอายุ เช่น ขี้ลืม ขี้น้อยใจ ชอบพูดเรื่องที่ตนชอบ ขี้เบื่อ ฯลฯ ทั้งนี้เพราะสมองน่าจะยังพัฒนาไม่เค็มที่ น่าจะรับประทานวิตามินด้วยเช่นกันหรือไม่

ปัจจุบันมีวิธีการช่วยเหลือทางเลือก อย่างมากมาย เช่น การให้อ๊อกซิเย่น การฝังเข็ม การสร้างความสมดุลโดยการปรับเปลี่ยนเรื่องอาหารฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพัยงแต่เสียเงินเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าจะช่วยให้เด็กดีขึ้นหรือหายได้ ควรจำไว้เสมอว่า ต้องทำควบคู่กับการพบจิตแพทย์ ปรับพฤติกรรมพ่อแม่และเด็ก จนกว่าอาการของเด็กจะดีขึ้น

การแพทย์ทางเลือก

คุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่าและคุณตาคุณยาย รวมทั้งคุณครู มักไม่อยากให้เด็กรับประทานยา เพราะเกรงว่าจะไม่ดีเนื่องจากมีการผสมยาบ้าร่วมด้วย แม้แต่เพียงเล็กน้อยก็ไม่ชอบ และ หาทางหลีกเลี่ยงยา พยายามสรรหาแพทย์ทางเลือกหลายๆ ด้าน เช่น

- การปรับเปลี่ยนเรื่องอาหารการกินเพื่อให้เกิดความสมดุล โดยใช้หลักสูตรพิเศษ

- การทำ HEG

HemoencephalogramหรือHEGคือการใช้แสงอินฟราเร็ด ตรวจวัดการไหลเวียนของโลหิตที่สมองส่วนหน้า ถ้าปรากฏสีน้ำเงินที่สายคาดที่หน้าผาก แสดงว่าการไหลเวียนของโลหิตที่สมองส่วนหน้าไม่ดี ถ้าสีแดงแสดงว่า การไหลเวียนของโลหิตดีเพราะมีอ๊อกซิเยนไหลเวียนดี การไหลเวียนของโลหิตที่สมองส่วนหน้า จะมีส่วนสัมพันธ์กับคลื่นสมอง ถ้าคลื่นสมองช้า การทำงานของสมองก็จะพลอยทำงานช้าไปด้วย

การใช้ HEG Neurofeedback จึงมีส่วนช่วยทำให้เด็กสมาธิสั้น เด็กแอลดี เด็กออทิสติกและเด็กที่มีความวิตกกังวลสูง รวมทั้งผู้ป่วยจิตเภท ใช้ได้ผลดี เพราะช่วยเพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนหน้า จึงทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น ศ.พญ.เพ็ญแข ลิ่มศิลา ได้ทำการวิจัยการใช้วิธีการนี้ในกลุ่มเด็กทั้ง 3 กลุ่ม รวมทั้งเด็กแอสเพอร์เกอร์ เด็กที่มีอาการซึมเศร้าและจิตเภท ปรากฏว่าได้ผลดี แต่ผู้ปกครอง ต้องใช้ร่วมกับการรักษาตามวิธีทางการแพทย์ ผลที่เกิดขึ้นจะดีมากกว่า มีโรงพยาบาลถึง 16 แห่งที่ใช้การบำบัดด้วยการทำHEG

-การใช้ EEG Neurofeedback ไม่ปรากฏว่าสามารถทำให้โรคใดหายได้ แต่เป็นการช่วยกระตุ้นให้คลื่นสมองทำงานดีขึ้นและกระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงสมองเฉพาะสวนดีขึ้น การใช้วิธีการนี้ต้องทำในระยะเวลานาน อย่างน้อย 1-2 ปี อาจจะเห็นผลที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามทาง อย.ของสหรัฐ ได้ให้การยอมรับเฉพาะเรื่องการทำให้เกิดการผ่อนคลายเท่านั้น

- การใช้ยาจีนและยาสมุนไพร

- การใช้อ๊อกซิเจนบำบัด (Hyperbaric Chamber)

- การใช้แม่เหล็กไฟฟ้าชนิดอ่อนบำบัด

- การใช้เซลล์ซ่อมเซลล์บำบัด (ชีวโมเลกุล - Biomolecular Therapy) เป็นการนำเซลล์ส่วนที่เล็กที่สุดของวัว ไปซ่อมเซลล์ของมนุษย์ที่ไม่ดีหรือเสื่อม ให้ทำงานดีขึ้น เช่น เซลล์สมองใช้ซ่อมเซลล์สมอง เซลล์ไตใช้ซ่อมเซลล์ไต ฯลฯ การใช้เซลล์ซ่อมเซลล์จะแตกต่างกับการใช้เสต็มเซลล์โดยสิ้นเชิง การใช้เซลล์ซ่อมเซลล์อาจทำได้หลายวิธี ทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ที่ประจำ ณ ศูนย์ชีวโมเลกุลแห่งเอเซีย การบำบัดเช่นนี้ อย.ถือว่าเป็นการรับประทานอาหารเสริม สำหรับบุคคลที่มีความเสื่อมมาก บางรายจะดีขึ้น แต่บางรายจะหมดความอดทนและเลิกบำบัด สำหรับรายที่ดีขึ้น จะเป็นเพราะมีความเชื่อมั่น และ ประกอบกับหมดทางที่จะรักษาและบำบัดด้วยวิธีอื่นแล้ว อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับสภาพภายในของแต่ละคน บางคนอาจดีขึ้นภายใน 1-3 เดือน แต่บางคนอาจเป็นปี บางคนอาจไม่ดีขึ้น ถ้าความเสื่อมของเซลล์สลับซับซ้อนมาก จนผู้ป่วยไม่อดทนต่อการรักษาและมองเห็นแต่ผลเสีย

- การตรวจก้นหอยที่นิ้วมือและนิ้วเท้า เป็นเพียงการทำเพื่อหาข้อบกพร่องของเด็กซึ่งยังมิใช่ผลทาง วิทยาศาสตร์

- การฝังเข็ม เป็นการช่วยตามศาสตร์ของจีนซึ่งจะให้ผลดีในระยะแรก ต้องใช้เวลานาน เด็กอาจไม่ทนเจ็บและรำคาญ พ่อแม่เองก็อาจจะไม่อดทน ประกอบกับต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ มิใช่เป็นเพียงหมอจีนที่มีคนบอกต่อ สถานฝังเข็มที่น่าเชื่อถือ คือ ที่ ร.พ บ้านสวน ที่ ถนนจรัลสนิทวงศ์

 -Interactive Metronome Treatmentเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ทีมีปัญหาการทำงานของสมองให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทำให้การเชื่อมต่อของกลไกทางสมองและระบบประสาททำงานได้เร็วและดีขึ้น การช่วยเหลือด้วยวิธีนี้ ได้รับการพัฒนามาตลอดเพราะเชื่อว่ามีประโยชน์มาก หากทำควบคู่กับการทำกิจกรรมบำบัดหรือที่เรียกว่า การทำเอสไอจะดีมาก มีงานวิจัยหลายชิ้นมากนับตั้งแต่ ค.ศ 1990 หรือ พ.ศ 2533 และ ยังเชื่อว่า เมื่อได้รับการบำบัดแล้ว การทำงานของสมองและระบบประสาทจะดีขึ้นเพราะได้รับการซ่อมแซมฟื้นฟู

การบำบัดจะใช้ชุดหูฟังกับผู้มีปัญหาและเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ซึ่งสั่งให้ผู้ที่ได้รับการบำบัดเขยิบหรือเคลื่อนไหวแขนขาตามค่ำสั่งอย่างต่อเนื่อง จนมีอาการควบคุมตนเองให้จดจ่อ ไม่วอกแวกไปตามสิ่งเร้า มีการพัฒนาการเรียนรู้ การรับรู้ จนสามารถควบคุมตนเองในเรื่องกิจวัตรประจำวันและการเรียนได้จนเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะเด็กสมาธิสั้น มีการทำวิจัยเปรียบกับเด็กสมาธิสั้น 2 กลุ่ม ปรากฏว่ากลุ่มที่ได้รับการบำบัดมีพฤติกรรมดีขึ้นมาก

ใคร ๆ ก็สามารถทำได้หากได้รับการฝึกหัดให้ใช้เครื่องนี้ แต่นักกิจกรรมบำบัดและนักอรรถบำบัดจะทำได้ดีที่สุด เพราะสามารถประเมินความบกพร่องและความก้าวหน้าของผู้ที่มีปัญหาได้ดี

ปัจจุบันการบำบัดเช่นนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย แต่เป็นที่สนใจของทางการแพทย์เป็นอย่างยิ่ง

- และอื่น ๆ อีกมากมาย

การบำบัดนอกจากยาที่จิตแพทย์สั่งแล้ว ต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ปกครองโดยตรง ไม่มีอะไรไม่ดี มีแต่ดีมากดีน้อย ช้าหรือเร็ว มีแต่้แย่มากแย่น้อย ใช้เงินมากหรือเงินน้อย แต่ที่แน่ ๆ คือ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกลไกในตัวเด็ก เด็กทุกคนไม่เหมือนกัน ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและสภาพสมอง รวมทั้งสภาพจิตใจและวงจรชีวิตของแต่ละคนและ"กฏแห่งกรรม" ซึ่งไม่มีใครทราบได้ว่า ใครจะเป็นอย่างไร ชีวิตของแต่ละคนถูกกำหนดมาแล้วทั้งสิ้น หากคุณเป็นชาวพุทธ

ดีที่สุดขอให้ติดต่อชมรมฯ ที่่โทร. 08-9328439 เพื่อปรึกษาหารือก่อนตัดสินใจรักษาโดยแพทย์ทางเลือก



 
หน้าแรก  เกี่ยวกับเรา  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา  บริจาค และ สั่งซื้อหนังสือเรื่อง"For You....คุณแม่คนเก่ง
Copyright©2024 adhdthai.com
Powered by SMEweb