หน้าแรก  :  เกี่ยวกับเรา  :  สมัครสมาชิก  :  ติดต่อเรา  :  บริจาค และ สั่งซื้อหนังสือเรื่อง"For You....คุณแม่คนเก่ง
บทความที่ควรอ่าน: การใช้ยาและผลของยา
การใช้ยาและผลของยา
Views: 99999

การใช้ยาและผลของยา

"ยา" ช่วยให้สมาธิดีจริงหรือ  "ยา" ออกฤทธิ์อย่างไรจึงช่วยให้ลูกมีสมาธิดีขึ้น

        การช่วยเหลือที่สำคัญอย่างหนึ่งของอาการสมาธิสั้น  คือ  การใช้ยา  คุณพ่อคุณแม่มักตั้งคำถามบ่อย ๆ ว่า  ยาจะช่วยให้สมาธิของลูกดีขึ้นจริงหรือและดีขึ้นได้อย่างไร  คำตอบคือ  ยาสามารถช่วยให้  สมาธิของเด็กดีขึ้น  จริง  โดยการไปออกฤทธิ์ช่วยปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุล  อยู่ในระดับที่สมองจะทำหน้าที่ได้ดีขึ้น  คือ  เด็กจะนิ่ง  ควบคุมตนเองให้รับผิดชอบในการทำกิจวัตรประจำวันที่บ้านและรับผิดชอบในเรื่องการเรียนที่โรงเรียนได้  แต่เป็นเพียงช่วงสั้นๆ ตามฤทธิ์ของยาเท่านั้น   

       อย่างไรก็ตาม  การใช้ยาเพื่อช่วยให้สมาธิดีขึ้น  จำเป็นต้องอยู่ในการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์และจำเป็นต้อง ใช้ร่วมกับการช่วยเหลือลูกด้านอื่นอย่างถูกต้องและถูกวิธี  จะอาศัยยาอย่างเดียวไม่ได้เพราะยาไม่ได้ช่วยให้หายสมาธิสั้น  เพียงแต่  ยาช่วยได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น  อีกครึ่งหนึ่งคือ  ความสุขของเด็ก โดยคุณแม่ต้องแก้ไขตนเองให้หายโกรธและ ช่วยเหลือลูกด้วยความเมตตาอย่างแท้จริงตามหลักธรรมะ  จนลูกรู้สึกได้ถึงความรักความเมตตา  ยอมรับการปรับพฤติกรรมของคุณแม่  จนซึมลึกในจิตใต้สำนึก  เกิดความเคยชิน  เมื่อเติบโตขึ้น  อาการจะดีขึ้นเพราะได้ถูกสอนให้ทำในสิ่งที่เหมาะสม  และ  ในที่สุดจะหายเพราะความสุขจะยิ่งเสริมให้เกิดการพัฒนาของสมองโดยอัตโนมัติ

เมื่อไรควรจะใช้ยา

        ข้อบ่งชี้ประการเดียวของการใช้ยาในการช่วยเหลือเด็กที่มีสมาธิสั้น  คือ เมื่ออาการมีความรุนแรง  จนทำให้เด็กไม่สามารถใช้ชีวิตได้ดีเพียงพอ  คำว่าไม่สามารถใช้ชีวิตได้ดีเพียงพอในที่นี้ได้แก่  เด็กไม่สามารถเรียนหนังสือได้ดีเท่าที่ควรจะทำได้  เด็กก่อความวุ่นวายในชั้นเรียน  จนครูไม่สามารถควบคุมได้หรือรบกวนเพื่อน ๆ ในห้อง  ส่วนที่บ้านเด็กมีปัญหาพฤติกรรมที่ดื้อมาก  การดูแลตนเองไม่ดี  พ่อแม่เหน็ดเหนื่อยในการควบคุมพฤติกรรมของลูก  จนเกิดปัญหาความตึงเครียดในครอบครัว  ยาเพิ่มสมาธิแต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาในระยะสั้น  เด็กจะมีอาการเหมือนเดิม  เพราะยามิได้แก้ไขความบกพร่องในการทำงานของสมอง

ยาที่เพิ่มสมาธิ
        ยาที่ช่วยเพิ่มสมาธิและใช้ในการช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้น  แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

          Psychostimulant
        ยากลุ่มนี้  ออกฤทธิ์ที่สมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับการตื่นตัวและสมาธิ  โดยไปเพิ่มระดับของสารเคมีที่เรียกว่า dopamine และ norepinephrine  ในสมอง

        โดยทั่วไป  แพทย์มักใช้ยากลุ่มนี้เป็นอันดับแรก  ยากลุ่มนี้มี 3  ตัวที่มักใช้กันคือ  Methylphenidate   Dexedrine  และ  Pemoline  แต่สองตัวหลังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย 

         Methylphenidate (MPH) มีชื่อทางการค้าว่า  Ritalin - ริทาลิน  แต่ปัจจุบันยาตัวนี้ อย.งดสั่งจากต่างประเทศ  แต่จะสั่งยาที่ผลิตในประเทศ (Generic name)ที่มีราคาถูกกว่า Ritalin เล็กน้อย และ ใช้ชื่อทางการค้าว่า Methylpenidate เป็นยาเม็ดสีขาว  ขนาดเม็ดละ 10 มิลลิกรัม  แพทย์มักใช้ยาตัวนี้เป็นอันดับแรกเพราะออกฤทธิ์เร็ว เห็นผลได้ชัดเจน  และ มีความปลอดภัยสูง  เด็กที่มีสมาธิสั้นร้อยละ 75-80  จะตอบสนองดีต่อยาตัวนี้  สมาธิของเด็กจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดภายใน  1-2  วันที่เริ่มรับประทานยา  แต่คุณแม่ที่ลูกเคยใช้ยาตัวแรก หรือ Ritalin มักไม่ค่อยชอบยาปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับยาตัวเก่า  ผลจะต่างกันมาก  เพราะเด็กมักจะมีอาการเหมอลอยและรับผิดชอบน้อยกว่าตัวเดิมมาก  บางรายเกิดอาการก้าวร้าว  น้ำลายไหล  ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยก้าวร้าวหรือน้ำลายไหลมาก่อน  ทั้งนี้ทั้งนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะพิจารณาเรื่องนี้และหาวิธีการแก้ไข  โดยให้ทางเลือกแก่ผู้ใช้ยาและ ทั้ง สั่งยาตัวเดิมและยา generic name และ เพิ่มยาระยะยาว  โดยให้ยาทั้งหมด "ฟรี" แก่ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อให้เด็กที่พ่อแม่ยากจนได้มีโอกาสดีขึ้นจนถึงหายได้เหมือนลูกผู้มีฐานะ 

        นอกจาก  MPH  จะช่วยให้สมาธิของเด็กดีขึ้นแล้ว  ยังมีผลทำให้อาการซนอยู่ไม่นิ่งลดลง  อาการหุนหันพลันแล่นขาดความยั้งคิดก็ลดลงด้วย  การเปรียบเทียบเด็กที่ใช้ยานี้กับเด็กที่ใช้ยาเม็ดหลอกที่ไม่มีตัวยาผสมอยู่ (เรียกยาแบบนี้ว่า placebo)  พบว่าเด็กที่ใช้  MPH  จะมีอาการดีขึ้นในทุกด้าน  ผลการเรียนและความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นก็ดีขึ้นด้วย

        ขนาดยาที่เริ่มให้ในเด็กทั่วไป คือ 0.3 มก./กก./วัน  ในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี  แพทย์มักเริ่มให้ 5 มก.  ตอนเช้าวันละครั้ง  ถ้าไม่มีอาการแพ้ยาหรือผลข้างเคียงอื่น ๆ  ก็เพิ่มขนาดที่ละ 2.5-5 มก. ทุก 2-3 วัน  จนได้ผลที่ต้องการ  โดยทั่วไปใช้ประมาณ 10-40 มก./วัน (ไม่ควรเกิน 1 มก./กก./วัน)

        ยานี้ออกฤทธิ์เพียงแต่ 4 ชั่วโมง  ฉะนั้น  บางรายที่มีอาการมาก นอกจากมื้อเช้าแล้ว  อาจต้องให้ตอนบ่ายอีก 1 มื้อ  เพื่อช่วยให้เด็กมีสมาธิเรียนหนังสือได้ทั้งวัน  ในเด็กที่มีอาการมากและไม่สามารถทำการบ้านในตอนเย็นได้เลย  ก็อาจให้มื้อเย็นเพิ่มอีก 1 มื้อ  แต่จะ ไม่ให้ยานี้แก่เด็กหลัง 4 โมงเย็น ไปแล้ว เพราะอาจทำให้เด็กนอนไม่หลับ

        ผลข้างเคียงที่สำคัญของ MPH คือ  ทำให้เบื่ออาหาร  น้ำหนักลด ปวดท้อง  ปวดหัว  คลื่นไส้  ท้องผูก  อารมณ์หงุดหงิด  แต่อาการเหล่านี้มักหายไปภายในสัปดาห์แรก เด็กบางคนอาจดูซึมเมื่อได้ยา  อย่างไรก็ตามการหยุดยาในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์หรือปิดเทอม  จะช่วยลดผลข้างเคียงนี้ได้  แต่ถ้าไม่มีผลข้างเคียง แพทย์ที่ชำนาญและเก่งมักให้รับประทานยาต่อเนื่องทุกวันเพราะอาการสมาธิสั้นเกิดขึ้นตลอดเวลาไม่มีวันหยุด 

        อาการของเด็กที่ปรากฏขึ้นทุกกรณีควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรเพิ่มลด หรือ งดยาด้วยตนเอง

ยาแก้ซึมเศร้า
       
ยาแก้ซึมเศร้าแบบ tricyclic (TCA) เช่น  imipramine  สามารถลดอาการต่าง ๆ ในอาการสมาธิสั้นได้  แพทย์มักใช้ยาตัวนี้เมื่อเด็กไม่สามารถกิน MPH  ได้  หรือเมื่อเด็กมีอาการวุ่นวาย  อารมณ์แปรปรวนง่าย  เป็นโรคซึมเศร้า  หรือวิตกกังวลร่วมด้วย  ขนาดยาใช้ประมาณ 3-5 มก./กก./วัน

         การใช้ TCA ต้องมีความระมัดระวังอย่างยิ่ง  เพราะ  อาจมีผลข้างเคียงต่อหัวใจ  ซึ่งผู้ปกครองจะต้องรีบนำเด็กไปพบแพทย์  ถ้าไม่มีอาการ  ผู้ปกครองควรควบคุมดูแลเรื่องการกินยาอย่างระมัดระวัง แพทย์มักจะไม่สั่งยากลุ่มนี้  หากไม่มีความจำเป็นจริง ๆ

       
ในบางครั้งเมื่อใช้  MPH  หรือ TCA  ตัวใดตัวหนึ่งแล้วยังไม่ได้ผลเต็มที่ แพทย์อาจใช้ยาสองตัวร่วมกันก็ได้ เช่น  ให้  MPH  ในตอนเช้า  และ  TCA ในตอนเย็น  เป็นต้น

Clonidine (Catapress)
        ยานี้เดิมใช้สำหรับลดความดันโลหิตในผู้ใหญ่  แต่เนื่องจากมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอัตโนมัติ โดยเป็น  alpha  adrenergic  agonist (เป็นศัพท์ทางการแพทย์ ไม่สามารถแปลได้)  จึงสามารถช่วยให้เด็กมีสมาธิได้  มักใช้ในกรณีที่เด็กมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก  ทีเรียกว่า  Tics  หรือ Tourette  หรือ  เมื่อเด็กหงุดหงิดง่าย  มีอารมณ์โกรธรุนแรง และ  ก้าวร้าวขนาดที่ใช้ประมาณ  4-5 ไมโครกรัม/กก./วัน  ผลข้างเคียงที่พบส่วนใหญ่คือ  อาการง่วงนอน  ยานี้ออกฤทธิ์ค่อนข้างช้า  อาจต้องรอถึง 2-3 สัปดาห์  จึงจะเห็นผล

         ยาอื่น ๆ เช่น  ยาลดความวิตกกังวล  ยากันชัก หรือ  ยาแก้แพ้(antihistamine) มักใช้เพื่อให้เด็กง่วงนอนและไม่วุ่นวายนั้น  พบว่าไม่ได้ผลดี อย่างไรก็ตาม  แพทย์อาจให้  ยาประเภท  antihistamine  ในกรณีที่เด็กมีอายุน้อย  แต่มีอาการวุ่นวาย  อยู่ไม่นิ่งมาก  จนผู้ปกครองควบคุมไม่ไหว

ยาที่แพทย์ให้ปลอดภัยหรือไม่

        ยาที่แพทย์ให้  ส่วนใหญ่มีความปลอดภัย  มิฉะนั้นคงไม่ใช้กับเด็ก  เนื่องจากยาที่รักษาอาการสมาธิสั้น  มีหลายชนิด  หากแพทย์พูดน้อย  คุณแม่ควรพูดโดยถามแพทย์ให้ชัดเจนว่า  ยาตัวที่แพทย์ให้นั้น  จะมีผลข้างเคียงอะไรและต้องระมัดระวังเรื่องใดบ้าง

 

จะต้องกินยาทุกวันหรือไม่

        วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการให้ยา  คือ  เพื่อ  ช่วยเด็กทางด้านการเรียน ดังนั้น  แพทย์มักจะให้ยาในวันที่ต้องไปโรงเรียน  ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์และเมื่อปิดเทอม  แพทย์มักจะให้หยุดกินยา  อย่างไรก็ตามในเด็กที่มีอาการมาก เช่น ซน  อยู่ไม่นิ่ง  อารมณ์หงุดหงิดง่าย  จนทำให้เกิดปัญหา  แพทย์อาจจะให้กินยาในวันหยุดด้วย  ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาพฤติกรรมมากมายจนเกินไปและเพื่อให้คุณแม่และสมาชิกในครอบครัวได้รู้สึกผ่อนคลายในวันหยุดบ้าง

        ปัจจุบัน  ในต่างประเทศและในประเทศไทย  แพทย์ที่เก่งและชำนาญ มักจะให้ เด็กกินยาทุกวัน  เพราะอาการที่เป็นเกิดขึ้นตลอดเวลา  ไม่มีวันหยุด  ทั้งนี้  เพื่อช่วยให้เด็กมีการควบคุมตนเองดีขึ้น  ไม่ให้เกิดปัญหาความตึงเครียดในครอบครัว (โดยเฉพาะระหว่างพ่อ-แม่-ลูก)  มากเกินไป  โดยเชื่อว่า  เมื่อเด็กมีอาการน้อยลง  การควบคุมตนเองดีขึ้น  ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับบุคคลอื่นจะดีขึ้น  มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น  เด็กจะมีความสุข  มีความมั่นคงในตนเอง ซึ่งจะช่วยให้เด็กพัฒนาดียิ่งขึ้น

ลูกกินยาไปนาน ๆ จะติดยา หรือ มีอาการดื้อยาหรือไม่ 

        จากการศึกษาวิจัยและติดตามผู้ป่วยมาเป็นเวลานาน ไม่พบว่ามีการติดยา ยา MPH นี้สามารถลดขนาดหรือหยุดได้  โดยไม่เกิดอาการขาดยา (withdrawal)  ส่วนอาการดื้อยา (ต้องเพิ่มขนาดยาขึ้นเรื่อย ๆ จึงจะได้ผลดีตามเดิม) นั้น  มักไม่ค่อยมี 

        สาเหตุประการเดียวที่แพทย์ต้องเพิ่มยา  คือ  เด็กตัวโตและมีน้ำหนักตัวเพิ่ม  อย่างไรก็ตาม  ผู้ปกครองจำนวนมากอาจพบว่า  เมื่อลูกกินยาไปนาน ๆ การเปลี่ยนแปลงที่ดีที่เคยเกิดขึ้นในช่วงแรกนั้น  กลับลดน้อยลง (เช่น เด็กเคยขยันในช่วงต้นของการช่วยเหลือ  แต่พอนาน ๆ ไปก็ขยันน้อยลง  เป็นต้น) สาเหตุมักเนื่องมากจากทั้งเด็กและครอบครัวต่างก็เริ่ม  ชินกับอาการและปัญหา  ต่าง ๆ ที่พบและไม่มีความวิตกกังวลเท่ากับตอนแรกที่พบแพทย์  จึงมักเกิด ความหย่อนยานในการปรับพฤติกรรมของตนเองและของเด็ก  ปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ  จึงมักเกิดขึ้นซ้ำอีกและดูราวกับว่า  การใช้ยาในช่วงหลัง ๆ ไม่ทำให้เด็กดีขึ้นเท่าไร

ลูกจะต้องกินยาไปนานเท่าใด 

        เนื่องจากอาการสมาธิสั้นเป็นอาการเรื้อรัง  เด็กจำนวนมากจำเป็นจะต้อง ใช้ยาไปจนโต  โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรง  ส่วนรายที่มีอาการเล็กน้อย หรือปานกลางนั้น  อาจหยุดยาได้เป็นระยะ ๆ  เมื่อเด็กมีพฤติกรรมดีขึ้น  มีความ สัมพันธ์กับผู้อื่นดีขึ้น และ ผลการเรียนดี ขึ้น  ทั้งนี้เพราะเมื่อเด็กมีการพัฒนาขึ้นในหลาย ๆ ด้าน  เด็กมักจะ เกิดกำลังใจ เกิดแรงจูงใจ  ที่จะพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นในหลาย ๆ ด้าน  สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กพยายาม  และ  ตั้งใจมากขึ้น  ทั้งในการเรียนและในการ  ควบคุมตนอง  เด็กหลายคนสามารถ  หยุดยา ได้   ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  ได้กลายเป็นอุปนิสัยถาวรของเด็ก  จนไม่จำเป็นต้องกินยาอีก

ติดตามผลของยา

           พ่อแม่ควรใส่ใจและประเมินอาการหลังการใช้ยาของเด็ก  ปรึกษาแพทย์เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้ยา  ไม่ควรหยุดยาเองเป็นอันขาด  การหยุดยา  ควรปรึกษาและอยู่ในวินิจฉัยของแพทย์จะดีที่สุด  พ่อแม่จะต้องใช้ความอดทนและความละเอียดในการสังเกตทุกระยะ  ให้เวลาการหาจุดพอดีของยากับตัวเด็ก  ควรมี สมุดบันทึก เพื่อจดเรื่องเกี่ยวกับการใช้ยาของลูก  จะได้ประโยชน์มาก

  • ตัวอย่างการจดบันทึก

     ผลของยา            เหมือนเดิม     ดีขึ้น     แย่ลง


    1.ซุกซน อยู่ไม่นิ่ง 

    2.ช่วงของความสนใจ

    3.อาการวอกแวกง่าย

    4. ความสามารถใน

    การทำงานให้เสร็จ

    5.การควบคุมอาการ

    หุนหันพลันแล่น

    6.การยอมรับระเบียบ

    กฎเกณฑ์

    7.ความสัมพันธ์กับ

    พื่อน


    ผลข้างเตียง          มาก   ปานกลาง  น้อย        

    1.ความอยากรับ-

    ประทานอาหาร

    2.การนอนหลับ

    3.อาการตะคริวที่ขา

    4.อาการโศกเศร้า

    ร้องไห้ง่าย

    5.อาการง่วงเหงาหาวนอน

    6. อาการปากคอแห้ง

    7. อาการปวดท้อง

    8. อาการอื่นๆ

     *******************

     



 
หน้าแรก  เกี่ยวกับเรา  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา  บริจาค และ สั่งซื้อหนังสือเรื่อง"For You....คุณแม่คนเก่ง
Copyright©2024 adhdthai.com
Powered by SMEweb