หน้าแรก  :  เกี่ยวกับเรา  :  สมัครสมาชิก  :  ติดต่อเรา  :  บริจาค และ สั่งซื้อหนังสือเรื่อง"For You....คุณแม่คนเก่ง
บทความที่ควรอ่าน: การเล่นแบบไทยช่วยกระตุ้นสมอง
การเล่นแบบไทยกระตุ้นสมอง
Views: 49870

การเล่นแบบไทยกระตุ้นสมอง

คนทั้งประเทศตกใจเมื่อนักวิชาการทางด้านการศึกษาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า เด็กไทยไอคิวลดลงหรือพูดอย่างตรงไปตรงมาคือ เด็กไทยฉลาดน้อยลงหรือ "เด็กไทยไม่ค่อยฉลาด"

เมื่อต้นปีประมาณเดือนเมษายน 2554 นักวิชาการได้ออกมาและแจ้งผลการสอบโอเน็ตของเด็กไทยมัธยม 6�ประจำปีการศึกษา 2553 ผลปรากฏว่า

ทั่วประเทศ 42.61

รายวิชาสังคมศึกษา 46.51

ภาษาอังกฤษ 19.22

คณิตศาสตร์ 14.99

วิทยาศาสตร์ 30.90

ภาษาไทย 42.61

สุขศึกษา 62.86

ศิลปะ 32.64

การงานอาชีพและเทคโน 43.69

สำหรับปี 2552 และ 2551 ผลมิได้แตกต่างกัน สำหรับวิชาหลักในปี 2553 ผลต่ำกว่าปี 2552และ 2551

 ผลการสอบ GAT และ PAT ประจำปี 2555 เพิ่งประกาศเมื่อ 9 พ.ย 55และผลของปี 2556 ที่เพิ่งประกาศ ปรากฎว่า ผลสอบโดยเฉลี่ยของเด็กไทย ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ นั่นคือ สอบตกหมด.......สุดช๊อค......เด็กไทยไม่ฉลาด......

ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์อันมหัศจรรย์ขึ้นเช่นนี้ ทั้งๆที่เครื่องมือการศึกษามีมากมาย เด็กตระเวณเรียนพิเศษกันเป็นว่าเล่น แต่ผลมิได้เป็นไปตามการทุ่มเทเวลา กำลังเงินและกำลังกายของคุณพ่อคุณแม่

ไม่จำเป็นต้องโทษใครนอกจากโทษตนเอง ทำไมเด็กไทยสมัยก่อน ไม่จำเป็นต้องเรียนตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง ไม่ต้องเรียนพิเศษก่อนเข้าอนุบาลหรือเข้าชั้นประถมหรือมัธยม แต่ยิ่งโตยิ่งฉลาด

เด็กสมัยก่อนจะเข้าโรงเรียนประมาณ 7 ขวบ โดยเรียนชั้นประถมปีที่1 ในหนึ่งสัปดาห์เด็กจะต้องเรียนวิชา "เขียนคำบอก" วิชา "เรียงความ" และวิชา"ย่อความ"เพื่อกระตุ้นสมองในด้านการคิดรวบยอด นั่นคือให้สามารถจับประเด็นความหรือเนื้อหาสาระได้อย่างถูกต้อง เมื่ออ่านจะเข้าใจ เมือ่ฟังครูสอนจะเข้าใจ เมื่อเขียนผู้อ่านจะเข้าใจ เมือพูดผู้ฟังจะเข้าใจ เมื่อถึงเวลาสอบ จะสอบโดยการเขียนตอบคำถามซึ่งมุ่งเน้นความเข้าใจและการคิด มิใช่ให้ขีดกากะบาดเลือกคำตอบซึ่งมุ่งเน้นการท่องจำ นี่คือสาระการเรียนรู้ของเด็กสมัยก่อน

การกระตุ้นสมองของเด็กไทยสมัยก่อน จะเริ่มกระตุ้นกันตั้งแต่แบเบาะเลยทีเดียว เมื่อเด็กยังนอนแบเบาะ ถ้ายังไม่หลับแม่จะอุ้มอยู่ในอ้อมกอดและร้องเพลงเห่กล่อมพร้อมโยกแขนซ้ายขวา หรือถ้าเด็กลงเปลแล้วยังไม่หลับ แม่จะแกว่งไกวเปล ร้องเพลงเห่กล่อม ส่วนเด็กจะหลับตาลืมตา มึนเพราะแกว่งเปล หูก็พลอยได้ยินเพลง ตาจะต้องพยายามจ้องมองปลาตะเพียนที่แขวนอยู่บนราวเปล การทำเช่นนี้เป็นการกระตุ้นสมองทาง ด้านการทรงตัวและการเคลื่อนไหว กระตุ้นการได้ยิน กระคุ้นการมองเห็น กระตุ้นการทำงานพร้อมกันหลายด้านของสมองหรือระบบประสาทสัมพันธ์ การเลี้ยงดูและกระตุ้นสมองเช่นนีเป็นสิ่งมหัศจรรย์ซึ่งมีผลต่อการรับรู้

เมื่อเด็กโตขึ้น เมื่อเดินหรือวิ่งได้ พ่อแม่จะสอนให้เด็กเล่นตามวิธีที่ปู่ย่าตายายสอนพ่อแม่ ไม่ต้องเสียเงิน ไม่ต้องเสียเวลา ไม่ต้องจ้างคนสอนหรือฝึกพิเศษ เป็นการเล่นภายในครอบครัวระหว่างพ่อแม่พี่น้องและเพื่อนบ้าน เด็กมีโอกาสเล่น จดจำและเลียนแบบสิ่งที่งดงามที่พ่อแม่จะปลูกฝังในจิตใต้สำนึกให้ลูก จนกว่าจะถึงเวลาไปโรงเรียน นั่นคือ 7 ขวบ ซึ่งเป็นวัยเรียนรู้

 

สมองของเด็กจะถูกกระตุ้นด้วยการเล่นแบบไทย ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสมองทั้งสิ้นและเป็นการกระตุ้นการรับรู้ให้ทำงานแบบบูรณาการ โดยผ่านการได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รับรส การทรงตัวและการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อเอ็นข้อต่อและการสัมผัส การเล่นแบบไทยที่พอจำได้มีดังนี้

การเล่นขี่ม้าโยก ซึ่งทำด้วยไม้สักหรือไม้ไผ่หรือไม้ตาล เด็กจะเริ่มเล่นตั้งแต่อายุ 1 ขวบ โดยขี่ม้าโยกไปข้างหน้าและข้างหลัง การเล่นเช่นนี้จะช่วยด้านการทรงตัวและการเคลื่อนไหว

การเล่นชิงช้า เล่นในบ้านต้องเป็นชิงช้าเคลื่อนที่ ถ้าเล่นนอกบ้านต้องใช้เชือกผูกกับต้นไม้ เป็นการให้การทรงตัวและการเคลื่อนไหวมั่นคง ไม่เซหรือหกล้มบ่อยๆ

การเล่นเป่าลูกโป่ง ใช้ก้านผักบุ้งไทย จักปลายเป็น 4 หรือ 6 แฉก จุ่มก้านผักบุ้งด้านปลายแฉกลงในน้ำสบู่ข้นๆหรือเจลอาบน้ำ แล้วเป่าจะมีลูกโปงมากมายออกมาจากปลายก้านผักบุ้ง เมื่อไม่มีลูกโป่งให้จุ่มน้ำสบู่ใหม่แล้วเป่าใหม่ ด้วยการเลื่นวิธีนี้ จะช่วยทำให้ระบบการหายใจดีและทำให้กล้ามเนื้อข้อต่อตามลำคอและภายในช่องปากแข็งแรง เด็กจะมีพัฒนาการทางการพูดและด้านอื่นๆดีขึ้น ถ้าสามารถเล่นแข่งกันจะสนุกมากและลูกโป่งจะเป็นสีรุ้ง

การเล่นเป่ากบ ใช้หนังสติกประมาณครึ่งกำ โรยบนพื้น ผู้เล่นควรเป็นสองคน คนแรกนอนคว่ำราบกับพื้นและเลือกเป่าหนังสติกสีที่เลือกว่าเป็นของตนให้ขึ้นประกบกับหนังสติกสีอื่น ถ้าประกบได้ ให้เก็บตัวถูกประกบมาเก็บสะสมไว้ หากเป่าแล้วไม่ประกบ ต้องให้ผู้เล่นอีกคนเล่นบ้าง เมื่อทั้งสองฝ่ายเป่าจนหมดกอง ให้นับหนังสติกที่ตนสะสมได้ ใครได้มากเป็นผู้ชนะ ระบบหายใจและกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อที่ลำคอและภายในช่องปากจะแข็งแรง มีผลต่อการพูดและการเคี้ยวอาหาร แถมยังช่วยการรับรู้ด้านสายตาและการกะระยะ เพราะต้องเล็งแล้วเป่าให้ประกบเส้นยางที่ต้องการ

การเดินกะลา ใช้กะลาสองซีก เจาะตากะลา ร้อยด้วยเชือกที่พอลอดตากะลาได้ แล้วขมวดปลายเชือกทั้งสองข้างมิให้หลุดจากกะลา ปล่อยเชือกให้ยาวเท่าระดับแขนที่ยื่นออกมาทั้งสองข้าง แล้วขึ้นเหยียบกะลาโดยคีบเชือกด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ ใช้แขนดึงเชือกให้ตึงแล้วก้าวเดินไปเรื่อยๆ ฝึกจนเดินเร็วขึ้น โดยเท้าไม่หลุดจากกะลา เร็วจนถึงขั้นวิ่งได้จนถึงเป้าหมาย ควรเล่นสองคน แข่งกันว่าใตรจะถึงเป้าหมายก่อน โดยเท้าไม่หลุดจากกะลาในขณะที่วิ่ง การเล่นนี้ขะช่วยทำให้แขนขาแข็งแรง ช่วยทำให้การทรงตัวดี

การเล่นชักคะเย้อ ใช้ผู้เล่นสองฝ่าย จับเชือกเส้นใหญ่มีความยาวประมาณ 8 เมตร ขมวดปมที่ปลายเชือกทั้งสองด้าน ให้ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจับเชือกโดยยืนเป็นแถวเรียงตัวประมาณ ข้างละ 3 คน เมื่อกรรมการเป่านกหวีให้ทั้งสองฝ่ายดึงเชือก พยายามดึงให้เชือกมาอยู่ข้างตนเองมากที่สุด ถ้าฝ่ายใดถูกดึงจนเท้าเหยียบเส้นแบ่ง ให้ถือว่าข้างนั้นแพ้ การเล่นเช่นนี้จะทำให้แขนขาและนิ้วมือแข็งแรง การทรงตัวจะดีและเด็กจะสนุกมาก

การเล่นพรายกระซิบ ให้เด็กนั่งเรียงบนม้านั่งประมาณ 4 คน ให้คนแรกกระซิบที่หูผู้นั่งถัดไปด้วยประโยคที่ตนคิดขึ้น คนที่สองเมื่อได้ยินต้องกระซิบต่อ เมื่อถึงคนสุดท้ายต้องพูดประโยคที่ได้ยินออกมาดังๆ ถ้าถูกต้องมานั่งตรงที่คนแรกเพราะถือว่าเป็นผู้ชนะ มีสิทธิ์กระซิบประโยคที่ตนคิดขึ้น การเล่นเช่นนี้เป็นการฝึกการได้ยินและการรอคอยพร้อมทั้งกฏกติกา

การเล่นกระโดดเชือก เล่นคนเดียวโดยใช้เชือกแบบเล่นคนเดียว การเล่นนี้ช่วยกล้ามเนื้อเอ็นข้อต่อ การทำให้แขนขาแข็งแรง รู้จักการกะการเคลื่อนไหวของแขนขาว่าควรเป็นจังหวะใดจึงจะต้องกระโดด เมื่อเล่นเก่งเวลาแกว่งเชือกให้สบัดเชือกเป็นเครื่องหมายคูณ จะยิ่งสนุกและท้าทาย

การเล่นหมากเก็บ หาหินหรือกรวดรูปร่างกลมสวย ไม่มีเหลี่ยมและไม่คม ขนาดเท่าปลายนิ้วโป้ง 5 ก้อน เล่น 2 คน คนแรกให้โปรยหินบนพื้นอย่างระมัดระวัง ไม่ให้แต่ละก้อนห่างกันมากเพราะจะทำให้รวบยาก ให้โยนหินก้อนแรกขึ้นไปในอากาศ รีบเก็บหินหนึ่งก้อนแล้วรีบรับหินที่กำลังตกจากอากาศให้ได้ วางหินก้อนแรกที่เก็บได้ โยนหินตัวโยนขึ้นไปในอากาศอีกแล้วรีบรวบหินสองก้อนเข้าด้วยกัน หรือ จะรวบสามก้อนหรือหนึ่งก้อน ให้กะระยะรับหืนในอากาศที่ตกลงมาให้ทัน เก็บหินจนหมด ถ้าหินที่โยนขึ้นไม่ตกก่่อนเก็บหินอีกก้อน ถือว่าไม่แพ้และเป็นผู้ชนะ สามารถเล่นต่อไปเรื่อย ถ้าหินตกก่อนรับถือว่าแพ้ทันที ไม่ต้องคอยให้เก็บหินให้หมด ให้ผู้เล่นอีกคนเป็นคนเล่นทันที

การเล่นประเภทนี้ ช่วยด้านประสาทสัมพันธ์เป็นอย่างดี สามารถใช้อวัยวะหลายอย่างทำงานให้พร้อมกันในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังฝึกการกะระยะในการโยนหินขึ้นไปในอากาศ ถ้าต้องการรวบหินที่อยู่ห่างกันมากต้องกะกำลังมือและโยนหืนให้สูง เพื่อจะได่้รวบหินได้ทันรับ นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นการมองเห็นอีกด้วย รวมทั้งเป็นการฝึกเด็กให้รู้จักการรอคอยและกฏกติกา ทำให้มีวินัย

การเล่นตั้งเต ใช้ชอล์คหรือเศษอิฐมอญขีดบนพื้นปูน กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 2 เมตร ขีดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งตามความยาวเป็น 5 ช่องเท่าๆกันประมาณช่องละ 40 เซ็นติเมตร ขีดเส้นแบ่งครึ่งช่องที่ 3 และ ช่องที่ 5 เริมเล่นโดยการโยนแผ่นเศษไม้หรือเศษกระเบื้อง กว้างยาวประมาณ 2 นิ้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นสี่เหลี่ยม แต่กะโดยประมาณ แผ่นนี้จะต้องมีน้ำหนัก

โยนแผ่นสำหรับทอยนี้ให้อยู่ในเขตช่องที่ 1 ให้กระโดดข้ามช่องที่ 1 โดยยืนขาเดียวอยู่ในช่องที่ 2 กระโดดสองขาให้คร่อมเส้นแบ่งในช่องที่ 3 กระโดดออกจากช่องที่ 3 ยืนขาเดียวในช่องที่ 4 กระโดด 2 ขาไปช่องที่ 5 ให้ขาทั้ง 2 ข้างคร่อมเส้นแบ่งในช่องที่ 5 แล้วหมุนคัวกลับโดยกระโดด 2 ขาให้อยู่บนช่องที่ 5 โดยคร่อมเส้นแบ่งตามเดิม กระโดดขาเดียวไปยืนในช่องที่ 4 กระโดด 2 ขาไปอยู่ในช่องที่ 3 โ ดยให้คร่อมเส้นแบ่ง กระโดดขาเดียวยืนขาเดียวในช่องที่ 4 ก้มตัวลงเก็บเบี้ยที่ทอยไว้ในช่องแรก แล้วกระโดดข้ามข่องแรก ให้ตัวออกไปอยู่นอกกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทอยเบี้ยลงไปในช่องที่ 2 กระโดดขาเดียวในช่องแรกและกระโดดข้ามชองที่ 2 ไปช่องที่ 3 โดยขาคร่อมเส้นแบ่ง กระโดต่อเหมือนเดิม กระโดกลับ เก็บเบี้ยในช่องที่ 2 กระโดออกนอกกรอบ โยนเบี้ยลงในช่องที่ 3 ด้านซ้ายมือ กระโดดขาเดียวให้อยู่ในช่องที่ 1 กระโดต่อขาเดียวต่อไปช่องที่ 2 กระโดดขาเดียวไปลงช่องที่ 3 ด้านขวามือ กระโดดต่อตามเดิมและกระโดดกลับยืนขาเดียวในช่องที่ไม่มีเบี้ย เก็บเบี้ยในช่องที่ 3 กระโดดขาเดียวจนออกนอกกรอบ โยนเบี้ยไปช่องที่ 3 ด้านขวามือและกระโดดไปและกลับตามเดิม โยนเบี้ยไปจนถึงช่องที่ 5 กระโดดกลับเหมือนเดิมจนออกนอกกรอบ

- ผู้ชนะคือผู้ที่โยนเบี้ยอยู่ภายในกรอบ ไม่มีการทับเส้นกรอบและ

- ผู้ชนะคือผู้ที่กระโดดได้โดยถูกต้อง ไม่กระโดดหรือยืนทับเส้นและไม่ล้มและสามารถเก็บเบี้ยได้และกระโดดออกนอกกรอบได้สำเร็จในแต่ละครั้งและ

- ผู้ชนะคือผู้ที่โยนเบี้ยลงได้ครบทุกช่อง โดยไม่ทับเส้นหรืออกนอกเส้นกรอบหรือตกผิดช่องและ

- ผู้ชนะเล่นต่อได้จนกว่าจะผิดกติกาตามข้างต้น

การเล่นตั้งเตช่วยให้ขาแข็งแรง ช่วยในการกะระยะ ช่วยในการใช้สายตาและช่วยในการทรงตัวและทำให้รู้จักการรอคอยและกฏกติกา

การเล่นตีกงล้อ ที่ทำด้วยไม้ไผ่เหลาให้แบน ใช้เส้นไม้ไผ่รัดเป็นระยะให้เป็นวงกลม สูงประมาณเอวของผู้เล่นหรือจะใช้ห่วงฮูลาฮุปก็ได้ มีไม้สำหรับตีกงล้อที่มีน้ำหนัก ยาวประมาณหนึ่งฟุต อาจเป็นลำไม้ไผ่ขนาดเล็กหรือไม้บันทัดที่เป็นไม้ผู้เล่นยืนหันหน้าไปทางเส้นชัย ถือไม้ตีกงล้อ เมื่อพร้อมให้ตีกงล้อไปข้างหน้า ต้องกะจังหวะเท้าให้เข้ากับจังหวะการตีและความเร็วของกงล้อ ล้อจะวิ่งเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับจังหวะการตีและความหนักเบาของการตี ผู้เล่นต้องระวังมิให้ล้อล้มก่อนถึงเส้นชัย เมื่อึงเส้นชัยถือว่าเป็นผู้ชนะ การตีกงล้อจะเล่นคนเดียวก็ได้หรือจะเล่นแข่งกันก็ได้ เป็นการเล่นที่สนุกมาก

การเล่นเช่นนี้ทำให้ขาและแขนแข็งแรงรวมข้อต่อแขนขาต้องเคลื่อนไหวซึ่งจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เล่นรู้จักกะความเร็วของเท้าและความหนักและความเร็วของการตีไม้กงล้อ

การเล่นอีตัก เมื่อรับประทานน้อยหน่าให้เก็บเม็ดไว้หนึ่งกำมือ ตัดกระดาษวาดเขียนกว้างและยาวประมาณ 2 นิ้ว พับปลายกระดาษด้านซ้ายเบาๆ ณ จุดหนึ่งนิ้วให้หักเบา ๆลงมาประมาณหนึ่งนิ้ว แล้วพับกระดาษด้านขวา ณ จุดเดียวกัน ให้ซ้อนทับกระดาษด้านซ้าย จะเกิดรูบช้อนปลายแหลมลึก มีผู้เล่นสองหรือสามคน ผู้เล่นคนแรกโปรยเม็ดน้อยหน่าลงบนพื้นบ้านที่เป็นไม้หรือเป็นปูนขัดมันเรียบหรือเป็นกระเบื้องเรียบแผ่นใหญ่ โปรยเบาๆ ให้เม็ดน้อยหนากระจายออกจากกันให้มากที่สุด แต่ต้องไม่เกินเส้นกรอบที่ใช้ชอล์คเขีดไว้ ถ้าเกินต้องให้คนที่สองเล่น ผู้เล่นใช้ช้อนกระดาษตักเม็ดน้อยหน่าที่ละเม็ด การตักต้องระมัดระวังมิให้ตักถูกเม็ดอื่น ถ้าถูกจะถือว่าแพ้ ต้องให้ผู้เล่นคนที่สองและสามเล่น ถ้าตักได้หมดกองถือว่าชนะได้เล่นต่อ หรือ ถ้าทุกคนทำเม็ดเคลื่อนไหวให้นับเม็ดว่าของใครมากที่สุดให้ถือว่าผู้นั้นชนะ จะได้เป็นคนเล่นอีกจนกว่าจะแพ้

การเล่นเช่นนี้ทำให้เด็กฝึกการใช้สายตา ฝึกการใช้กำลังนิ้ว กำลังแขนขา การทรงตัว การกะระยะและฝึกการรอคอย

ในกรณีที่เล่นหลายคน ให้ใช้วิธีจับไม้สั้นไม้ยาว แล้วแต่จะตั้งกฏว่าใครจับไม้อะไรได้เล่นก่อน หรือ จะใช้วิธี "โอหวายแป็ะ" คนที่ออกได้เล่นก่อน หรือวิธี "เป่สหยินฉุบ" ใครชนะได้เล่นก่อน

การเล่นแบบไทย ๆ อื่น ๆ ขอให้คุณเข้าอินเทอร์เน็ตค้นดูว่ามีอะไรอีกบ้าง เพื่อจะได้นำมาใช้ฝึกลูกเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ผลเกินร้อย

การเล่นแบบไทย เป็นการเล่นเพื่อกระตุ้นการทำงานของสมองทุกด้าน และยังช่วยทำให้ขาแขน กล้ามเนื้อ เอ็นและข้อต่อแข็งแรง รวมทั้งการทรงตัวและการเคลื่อนไหว การใช้สายตา การรับรู้เสียง ซึ่งเป็นการช่วยทำให้การรับรู้ทุกด้านของเด็กทำงานเป็นระบบ ก่อให้เกิดผลดีทั้งด้านพฤติกรรมและอารมณ์อย่างต่อเนื่อง เด็กเกิดความสุขและสนุก ทำให้สารเอ็นโดฟินหลั่งออกมาในระหว่างที่เล่น ทำให้เกิดการพัฒนาสมองอย่างครบวงจร มีผลทำให้ไอคิวของเด็กธรรมดาหรือของเด็กพิเศษสูงขึ้นหรือ "ทำให้เด็กฉลาดขึ้น"

ทุกบ้านและทุกโรงเรียนควรสนับสนุนให้เด็กเล่นแบบไทย จะดีที่สุด โรงเรียนและพ่อแม่ไม่ต้องจ่ายเงิน ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปฝึกการเล่นแบบฝรั้งให้เหนื่อยแรงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ นี่คือประโยชน์ของการเล่นแบบไทยซึ่งมีของแถมติดมาด้วย คือเด็กมีระเบียบวินัยและรู้จักกฏกติกาและการรอคอยมากขึ้นอีกด้วย

การเล่นแบบไทย ๆ ถูกที่สุด สนุกที่สุดและช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองอย่างครบวงจร ทำให้ไอคิวสูงขึ้น ทำให้เด็กมีพฤติกรรมและอารมณ์ดีขึ้น รวมทั้งรู้จักกฏกติการะเบียบวินัยดีขึ้นอย่างมาก รู้จักรักพ่อแม่พี่น้องและครู รวมทั้งรู้จักคำว่า "สามัคคี"จนพ่อแม่และครูยิ้มได้

***************

 



 
หน้าแรก  เกี่ยวกับเรา  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา  บริจาค และ สั่งซื้อหนังสือเรื่อง"For You....คุณแม่คนเก่ง
Copyright©2024 adhdthai.com
Powered by SMEweb