หน้าแรก  :  เกี่ยวกับเรา  :  สมัครสมาชิก  :  ติดต่อเรา  :  บริจาค และ สั่งซื้อหนังสือเรื่อง"For You....คุณแม่คนเก่ง
บทความที่ควรอ่าน: สั้นแค่ไหนเป็นปัญหา
สั้นแค่ไหนเป็นปัญหา
Views: 47732

สั้นแค่ไหนเป็นปัญหา

              คุณพ่อ/คุณแม่จะต้องหมั่นสังเกตและพูดคุยกับคุณครูเพราะอาการสมาธิสั้น  เป็นอาการสำคัญ  โดยดูจากการที่เด็กทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง พิจารณาว่า  เด็กมีสมาธิหรือจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้สั้นกว่าเพื่อนหรือสั้นกว่าเด็กที่อยู่ในวัยเดียวกันหรือไม่  การใกล้ชิดเด็กและหมั่นสังเกตในหลาย ๆ สถานการณ์  จึงเป็นสิ่งจำเป็น 

            ดังนั้นข้อมูลที่สำคัญ  จึงมาจาก คุณครู เพราะพ่อแม่อาจไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับลูกหรือสนใจในกิจกรรมเพียงด้านเดียว  เช่น  เวลาเด็กทำการบ้าน  พ่อแม่มักนำเด็กไปเปรียบเทียบกับพี่หรือน้อง  หรือ  ญาติที่ใกล้ชิด  เพียงแค่ 1 หรือ 2 คน  เท่านั้น  ฉะนั้น "ข้อมูลจากคุณครู" ที่อยู่ท่ามกลางเด็กในวัยเดียวกัน  ภายใต้สถานการณ์คล้าย ๆ กันมานานหลายปี  จึงมีโอกาสเปรียบเทียบได้แม่นยำกว่าคนอื่น ๆ

แต่..เอ..ลูกยังดูทีวี  เล่นเกม ไ ด้เป็นชั่วโมง
แล้วจะว่าลูกสมาธิสั้นได้อย่างไร

        การที่เด็กดูทีวี  เล่นเกม  อ่านการ์ตูน  หรือ  ทำอะไรที่ชอบได้นานหลายชั่วโมง ไม่ได้หมายความว่า เด็กไม่มีปัญหา  การที่เรียกว่า "สมาธิสั้น" นั้นเป็นการเรียกที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก  จริงๆ แล้วต้องเรียกว่า "สมาธิบกพร่อง" ทั้งนี้เพราะเด็กบางคนที่เป็น ไม่ได้มีปัญหาตรงที่มีสมาธิในช่วงสั้น ๆ แต่มีปัญหาในเรื่องของการควบคุมสมาธิและการปรับเปลี่ยนสมาธิ (Selective Attention) มากกว่า

        ถ้าเป็นสิ่งเร้าที่เข้มข้น  น่าตื่นเต้น  น่าสนใจ  เด็กจะมีสมาธิได้นาน  แต่ถ้าเป็นสิ่งเร้าที่น่าเบื่อ  หรือ ไม่ชอบ  เด็กจะไม่สามารถบังคับตนเองให้จดจ่อได้ เช่น  ถ้าเด็กไม่ชอบวิชาภาษาไทย  ถึงรู้ว่าพรุ่งนี้จะสอบ  เด็กก็จะไม่มีสมาธิในการอ่านหนังสือได้นานพอ  ในขณะที่เด็กปกติสามารถตั้งใจอ่านได้จนจบ

        อาจสรุปปัญหาสมาธิในเด็กเหล่านี้ว่า  เด็กที่ไม่สามารถมีสมาธิ  เมื่อจำเป็นต้องมีสมาธิ  แต่จะมีสมาธิดีจนเกินไป (Overfocus) เมื่อไม่จำเป็น  เช่น  มีสมาธิดีเกินไปจนไม่ได้ยินเสียงแม่เรียกขณะดูทีวี

สมาธิสั้นในทางการแพทย์ระบุว่า


        สมาธิสั้น คือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก (ก่อนอายุ 7 ขวบ) ที่เกิดจากความผิดปกติของสมองซึ่งมีผลกระทบต่อพฤติกรรม  อารมณ์  การเรียนและการเข้าสังคมกับผู้อื่นของเด็ก  กลุ่มอาการนี้ประกอบด้วย

  • อาการขาดสมาธิ (Attention Deficit)

 

  • อาการซนอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity)

 

  • อาการหุนหันพลันแล่น  หงุดหงิด  ขี้โมโห(Impulsivity)

        เด็กบางคนอาจจะมีอาการซนและอาการหุนหันพลันแล่น  วู่วาม  เป็นอาการเด่นซึ่งมักพบได้บ่อยในเด็กผู้ชายมากกว่า  แต่เด็กที่มีสมาธิสั้นบางคน อาจจะไม่ซน  แต่มีอาการขาดสมาธิเป็นหลักซึ่งมักพบได้  ทั้งในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย  แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้ชาย

อาการที่บ่งชี้ว่าเด็กอาจเป็นสมาธิสั้น ได้แก่

  1. อาการขาดสมาธิ (Attention Deficit): เด็กจะมีลักษณะวอกแวกง่าย ขาดความตั้งใจในการทำงาน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ต้องใช้ความคิด เด็กมักจะแสดงอาการเหม่อลอยบ่อยๆ  ฝันกลางวัน  ทำงานไม่เสร็จ  ผลงานมักจะไม่เรียบร้อย  ตกๆ หล่นๆ  ดูเหมือนสะเพร่า  ขาดความรอบคอบ เด็กมักจะมีลักษณะขี้ลืม  ทำของใช้ส่วนตัวหายเป็นประจำ  มีลักษณะเหมือนไม่ฟังเวลาพูดด้วย  เวลาสั่งให้เด็กทำงานอะไร  เด็กมักจะลืมทำ หรือทำครึ่งๆ กลางๆ  อาการขาดสมาธินี้มักจะมีต่อเนื่อง  ติดตัวจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่



  2. อาการซน (Hyperactivity) เด็กจะมีลักษณะซน  อยู่ไม่สุข  ยุกยิกตลอดเวลา  นั่งนิ่งๆ ไม่ค่อยได้  ต้องลุกเดิน  หรือขยับตัวไปมา  ชอบปีนป่าย เล่นเสียงดัง  เล่นผาดโผน  ทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตราย  มักประสบอุบัติเหตุบ่อยๆ จากความซนและความไม่ระมัดระวัง  พูดมาก ชอบแกล้งหรือแหย่เด็กอื่น

  3. อาการหุนหันพลันแล่น (Impulsivity) เด็กจะมีลักษณะวู่วาม  ใจร้อน อารมณ์หุนหันพลันแล่น  ขี้หงุดหงิด  ขี้โมโห  ระงับอารมณ์โกรธของตนเองไม่ค่อยได้  จึงมักก้าวร้าวง่ายหากถูกตี  ถูกดุ  ถูกว่า  เมื่อเติบโตขึ้นจึงมักมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นได้ง่าย  ทำอะไรไปโดยไม่คิดก่อนล่วงหน้าว่า  จะมีอะไรเกิดขึ้นตามมา  ขาดความระมัดระวัง  เช่น  วิ่งข้ามถนนโดยไม่มองรถดีๆ ซุ่มซ่าม  ทำข้าวของแตกหักเสียหาย  เวลาต้องการอะไรก็จะต้องให้ได้ทันที  รอคอยอะไรไม่ได้  เวลาอยู่ในห้องเรียน  มักจะพูดโพล่งออกมาโดยไม่ขออนุญาตครูก่อน  มักตอบคำถามโดยที่ฟังคำถามยังไม่ทันจบ  ชอบพูดแทรกเวลาที่คนอื่นกำลังคุยกัน  หรือ  กระโดดเข้าร่วมวงเล่นกับเด็กคนอื่นโดยไม่ขอก่อน

แพทย์ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัย

            เกณฑ์ในการวินิจฉัย ที่แพทย์ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คือ เกณฑ์ที่กำหนดขึ้นและประกาศใช้โดยสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (DSM-IV) โดยแบ่งกลุ่มอาการออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่

ก. อาการขาดสมาธิ (Attention Deficit) โดยเด็กจะมีอาการต่อไปนี้

1. ไม่สามารถทำงานที่ครูหรือพ่อแม่สั่งจนสำเร็จ
2. ไม่มีสมาธิในขณะทำงานหรือเล่น
3. ดูเหมือนไม่ค่อยฟังเวลาพูดด้วย
4. ไม่สามารถตั้งใจฟังและเก็บรายละเอียดได้  ทำให้ทำงานผิดพลาดบ่อยๆ
5. ไม่ค่อยมีระเบียบ
6. มีปัญหาหรือพยายามหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้ความคิดหรือสมาธิ
7. วอกแวกง่าย
8. ทำของใช้ส่วนตัวหรือของใช้ที่จำเป็นสำหรับงานหรือการเรียน  หายบ่อยๆ
9. ขี้ลืมบ่อยๆ

. อาการซน อยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity) และ  อาการหุนหันพลันแล่น วู่วาม (Impulsivity) โดยเด็กจะมีอาการต่อไปนี้

1. ยุกยิก  อยู่ไม่สุข
2. นั่งไม่ติดที่  ลุกเดินบ่อยๆ  ขณะอยู่ที่บ้านหรือในห้องเรียน
3. ชอบวิ่งหรือปีนป่าย                                                                   
4. พูดมาก พูดไม่หยุด
5. เล่นเสียงดัง
6. ตื่นตัวตลอดเวลาหรือดูตื่นเต้นง่าย
7. ชอบโพล่งคำตอบ  เวลาครูหรือพ่อแม่ถาม  โดยที่ยังฟังคำถามไม่จบ
8. รอคอยไม่เป็น
9. ชอบขัดจังหวะหรือสอดแทรกเวลาผู้อื่นกำลังพูดอยู่

        หากเด็กคนใดมีลักษณะอาการใน ข้อ ก หรือ ข้อ ข รวมกันมากว่า 6 อาการขึ้นไป เด็กคนนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นสมาธิสั้น

        เด็กบางคนมีไอคิวสูงมากและมีความเป็นอัจฉริยะเฉพาะทางและนอกจากนี้ยังดูปกติ  การพูดจาฉลาดหลักแหลมชัดเจน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องการให้ได้ตามต้องการของตน

        อาการสมาธิสั้น  "หายได้"  หากการช่วยเหลือถูกต้อง  ภาครัฐไม่จัดว่าเป็น "ผู้พิการ" พ่อแม่ต้องศึกษาวิธีช่วยเหลือโดยอ่านในบทความด้านซ้ายมือให้ครบถ้วนและนำไปปฏิบัติทุกวัน  หรือ  "ปรึกษาเรา" ได้  เด็กมักจะหายเมื่อใกล้เป็นวัยรุ่น

เราไม่สามารถนำแบบคัดกรองเด็กสมาธิสั้นมาให้ท่านใช้ได้เพราะมีลิขสิทธิ์



 
หน้าแรก  เกี่ยวกับเรา  สมัครสมาชิก  ติดต่อเรา  บริจาค และ สั่งซื้อหนังสือเรื่อง"For You....คุณแม่คนเก่ง
Copyright©2024 adhdthai.com
Powered by SMEweb